
อักษรพระนามและนามร่วมกันทั้ง “ฝ่ายหน้า” และ “ฝ่ายใน”
รู้หรือไม่ว่า ในอดีตนั้นมีธรรมเนียมการผูกตราประจำพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยใช้อักษรพระนามและอักษรนามร่วมกันกับ “ฝ่ายใน” ของเจ้านายพระองค์นั้นๆ ซึ่งมักจะใช้ตราเหล่านี้ในวาระโอกาส “อย่างลำลอง” เช่นพระราชหัตถเลขา ลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ หรือในวาระเหตุการณ์เนื่องในฝ่ายในพระองค์ / ท่านนั้นๆ
ตัวอย่างดังเช่นตรา “M.B.S.”
ตราประจำพระองค์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซี่งได้ผูกอักษรพระนามร่วมกับอักษรนามในภาษาอังกฤษของหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
ตรานี้เป็นตราดุนสี รูปตราภาณุรังษีและอักษรภาษาอังกฤษ M.B.S. โดย M หมายถึง “แม้น” หรือหม่อมแม้น (สกุลเดิม บุนนาค) ผู้เป็นชายา และ B.S. หมายถึงพระนาม “ภาณุรังษีสว่างวงษ์”
นอกจากนี้ยังมีตราดุนสีที่เป็นลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษ M.B.S. เพียงอย่างเดียวอีกด้วย
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๐๒ ทรงเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นจอมพลจเรทหารบกและทหารเรือ ในรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นอภิรัฐมนตรี
เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ทรงเป็นต้นราชสกุล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
สำหรับดวงตราที่นำมาให้ชมกันดวงตรานี้เป็นหนึ่งในกว่า ๔๐๐ ดวงตรา ที่ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ
“สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕”
ซึ่งจัดพิมพ์จากต้นฉบับหนังสือจริงที่เจ้าจอมเลียมได้ใช้ความอุตสาหะเก็บรวบรวมโดยใช้เวลาต่อเนื่องหลายปี
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑
ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนอุปนิสัยและความสามารถของเจ้าจอมเลียมเท่านั้น หากยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า สะท้อนรสนิยมและความเปลี่ยนแปลงของสังคมในห่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม
ผู้เผยแพร่
ปิติรัชต์ จูช่วย