ขุนนางสยาม
พระราชวังสวนดุสิต
ทุ่งนาและสวนผลไม้สุดสายตาในอดีต
ที่กลายเป็นพระราชวังใหญ่ใจกลาง พระนครในปัจจุบัน
เรื่อง ภัทรพล เปี้ยวนิ่ม, ภาพ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
พระราชวังสวนดุสิต
ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทวีปยุโรป
ในครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างพระราชนิเวศน์แห่งใหม่
เนื่องด้วยนายแพทย์ประจำพระองค์ชาวตะวันตกกราบบังคมทูลว่า พระบรมมหาราชวังมีอาคาร
ปลูกสร้างแออัด สถานที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท ในฤดูร้อนจึงร้อนจัดเป็นเหตุให้ทรงประชวร
อยู่บ่อยครั้ง อนึ่ง…พระราชอัธยาศัยส่วนพระองค์ โปรดการทรงพระดำเนินด้วยพระบาท
ในระยะทางอันพอสมควรแก่พระกำลัง ถ้าประทับบนพระที่นั่งโดยไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน
แห่งใดนานๆ ก็ไม่ใคร่จะทรงพระสบายพระวรกาย ต้องเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมือง
เพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถเนืองๆ จึงมีพระราชดำริว่า ควรสร้างที่ประทับในฤดูร้อน
และมีที่ให้ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทในกรุงเทพฯ
เป็นการสะดวกกว่าการเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมือง
ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร
สวนและทุ่งนาทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ แล้วทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯ
ให้กระทรวงนครบาลจัดซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าวด้วยเงินพระคลังข้างที่ เพื่อสร้างเป็นที่ประทับแห่ง
ใหม่ตามพระราชดำริแต่หนหลัง โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สวนดุสิต” และปลูกพลับพลา
ขนาดใหญ่เป็นที่ประทับชั่วคราว ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง
มาประทับยังสวนดุสิตเป็นการถาวรแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “พระราชวังสวนดุสิต”
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ
ให้เรียกว่า “พระราชวังดุสิต” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
การก่อสร้างพระราชวังดุสิตในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีข้าราชการที่มีหน้าที่โดยตรงหรือมีความเกี่ยวข้องหลายท่าน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง
เพียง ๔ ท่าน คือ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) พระยาเวียงในนฤบาล (เจ๊ก เกตุทัต)
และ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)
มหาเสวกเอก
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์
(หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)
บังคับบัญชาขุนหมื่นชาวที่และทหารช่างกรมทหารหน้าซ่อมแซมปรับปรุงพระที่นั่งและตำหนัก
ในเขตพระราชฐานชั้นใน เนื่องในการสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕
จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ใน
เวลาต่อมาแม้จะย้ายมารับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กแล้ว ก็ยังมีโอกาสได้ฉลองพระเดชพระคุณ
ด้วยการรับหน้าที่เป็นนายด้านก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารในพระบรมมหาราชวังอยู่เนืองๆ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกทุ่งส้มป่อยเป็นพื้นที่ก่อสร้าง
พระราชวังดุสิต เพื่อ “เปนที่ไปเที่ยวเล่น” พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)
ตั้งแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นผู้ตรวจการทั่วไปในการก่อสร้างพระราชวังดุสิต
มีหน้าที่กำกับดูแลสถาปนิก นายช่าง นายด้าน ทั้งชาวไทยและชาวตะวันตกที่มีหน้าที่ก่อสร้าง
พระราชวังดุสิตทั้งหมดให้สำเร็จตามพระราชประสงค์
การปลูกต้นไม้และการจัดสวนในพระราชวังดุสิตเป็นสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชอัธยาศัยว่าโปรดและสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ เพราะพระองค์
มีพระราชประสงค์จะให้พระราชวังดุสิตและพื้นที่โดยรอบเป็นสวนป่าเหมือนในต่างประเทศที่
ทอดพระเนตรเห็นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรป ซึ่งผู้มีหน้าที่กำกับดูแลงาน
ดังกล่าวก็คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช จึงปรากฎลายพระราชหัตถเลขาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปลูก
ต้นไม้และการจัดสวนในพระราชวังดุสิตจำนวนมาก ที่ส่งถึงเจ้าหมื่นเสมอใจราช ตั้งแต่แรกก่อสร้าง
สวนดุสิตนอกจากหน้าที่กำกับดูแลเรื่องการปลูกต้นไม้และการจัดสวนแล้ว เจ้าหมื่นเสมอใจราช ยังมี
หน้าที่เสาะหาพันธุ์ไม้ที่ต้องพระราชประสงค์ การขนย้าย การดูแลรักษา เรื่องราวเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ใน
ลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นกัน
จากลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและหนังสือกราบบังคมทูล
ของเจ้าหมื่นเสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ตลอดจนนายด้านผู้มีหน้าที่ๆเกี่ยวกับต้นไม้
จะพบว่า การปลูกต้นไม้ในสวนดุสิตมีหลายวิธี เช่น นำเมล็ดพันธ์มาเพาะขยาย ตอนกิ่ง ปักชำ
และการขุดล้อมต้นไม้ใหญ่มาจากที่อื่น ซึ่งเป็นวิธีดีที่สุดที่จะได้ต้นไม้สูงใหญ่ พันธุ์ดี มีความแข็งแรง
ดังนั้น เมื่อเจ้าหมื่นเสมอใจราช หรือนายด้านผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับต้นไม้คนใด ทราบว่ามีต้นไม้ใหญ่ๆ
งามๆ ที่สามารถขุดล้อมมาปลูกในพระราชวังดุสิตได้ ก็จะส่งคนออกไปขุดล้อมทันที หรือเมื่อมีผู้
กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็จะโปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช ส่งคนออกไปขุดล้อมเช่นกัน เช่น
“…กรมหมื่นพงษาบอกให้ต้นดุกูต้น๑กระเจี๊ยบต้นหนึ่งว่าสูงราว๖ศอก
ฤๅ ๘ ศอกจำไม่ได้เสียแล้วอยู่ที่สวนข้างวัดสมอรายนั้นเองขอให้จัดการ
ขุดให้ดีเพราะดุกูโตๆเป็นหาไม่ได้กว่า๒ต้น๓ต้นในบางกอก
จะช้าไปเท่าไรก็ตามอย่าให้เป็นอันตรายได้…”
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดทางรถไฟสาย
กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ใหญ่ในดงพญาเย็น
หลายชนิดที่งามต้องพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงมีรับสั่งให้เจ้า
หมื่นเสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) เดินทางขึ้นไปอำนวยการขุดล้อมมาปลูกไว้ใ
พระราชวังดุสิตด้วย แต่การขนย้ายต้นไม้ใหญ่ที่ขุดล้อมจากสถานที่ต่างๆ มายังพระราชวังดุสิต
มีความยากลำบาก เพราะจะขนย้ายทางบกก็ไม่ได้ ต้องขนย้ายด้วยทางเรือเพียงอย่างเดียว เจ้าหมื่น
เสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) จึงขอพระราชทานเรือกลไฟลำเล็กของ
กรมพระคลังข้างที่มาประจำการอยู่ในพระราชวังดุสิต เพื่อขนย้ายต้นไม้เหล่านี้โดยเฉพาะ
สำหรับการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ตามถนนสายต่างๆ ที่อยู่โดยรอบพระราชวังดุสิต
ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหมื่นเสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) เช่นกัน
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักจะมีลายพระราชหัตถเลขา
ในเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น
“…เลิกต้นมังคุดที่จะรายตามถนนพุดตาลในและถนนบ๋วยยกออกไป
รายริมถนนเขาทลุคือสายนอกกำแพงวังด้านตวันออกซึ่งเดิม
กะไว้จะปลูกต้นลำไยฤๅคงจะเป็นต้นลำไยยกมังคุดเสียก็ตาม
ถนนพุดตานในเปลี่ยนเป็นปลูกต้นจำปีตลอดจนถนนบ๋วย…”“…ต้นหางนกยูงริมถนนดวงตวันเอนเข้ามาหาถนนหมดทุกต้น
ตลอดทั้งแถวหากว่าไม่ดามไว้เผลอๆไปโตขึ้นอีกนิดหนึ่งจะดัดไม่ไป
ขอให้รีบไปดามเสียให้ได้โดยเร็วฟากข้างวังก็ไม่ได้ปลูกถ้าไม่ปลูกเสีย
ในเวลานี้คงจะโตไม่เท่ากันถ้าหากว่าจะปลูกได้ก็ให้เร่งปลูก
ถ้าไม่ปลูกไม่ไหว…”
มีเอกสารหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช
(หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) กำกับดูแลการปลูกต้นไม้ตลอดทั้งสองฟากถนนโดยรอบพระราชวังดุสิต
ซึ่งมีทั้งไม้ใหญ่ ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล เช่น ต้นหางนกยูง ต้นประดู่ ต้นสารภี ต้นกระดังงา ต้น
กร่าง ต้นตะโก ต้นชบา ต้นเข็ม ต้นราตรี ต้นยี่โถ ต้นมะขาม ต้นชมพู่ ต้นลำไย ต้นมะม่วง ต้นขนุน
ต้นกระท้อน เพื่อให้ความสวยงามและความร่มรื่นแก่ผู้สัญจรไปมาเป็นอย่างดี และเมื่อรวมกับพันธุ์ไม้
ต่างๆ ที่ปลูกอยู่ในพระราชวังดุสิตด้วยแล้ว ก็รวมมากกว่า ๑๐๐ ชนิดเลยทีเดียว
จึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุที่พระราชวังดุสิตและถนนโดยรอบร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์
นับร้อยๆ ต้นนั้น นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น
อิศรเสนา) ที่ทำฉลองพระเดชพระคุณสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จนสำเร็จได้ตามพระราชประสงค์
มหาอำมาตย์เอก
พระยาสุริยานุวัตร
(เกิดบุนนาค)
ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) แล้วว่า เมื่อ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนดุสิตเป็นที่ประทับสำราญพระราช
อิริยาบถนอกเขตพระนคร ก็ทรงเสาะแสวงหาพันธุ์ไม้นานาชนิดมาปลูกในสวนดุสิตเพื่อให้กลายเป็นสวนป่า
เหมือนในต่างประเทศ พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการที่พบหรือมีพันธุ์ไม้ชนิดและขนาดที่
ต้องพระราชประสงค์ก็ต่างคนต่างนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายแทบทุกราย เป็นที่พอพระราชหฤทัยของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างมาก
ช่วงเวลานั้น พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ขณะดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสยามประจำประเทศ
ฝรั่งเศส เป็นข้าราชการอีกผู้หนึ่งที่อุสาหะขวนขวายสืบหาพันธุ์ไม้แปลกๆ จากต่างประเทศเข้ามาน้อม
เกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระหว่างการก่อสร้างสวนดุสิตอยู่เสมอ ครั้งหนึ่ง
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) พบองุ่นพันธุ์ซึ่งนิยมปลูกในทวีปแอฟริกา มีรสหวานทานอร่อย
เหมือนกับองุ่นพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศฝรั่งเศส ก็ทวีปแอฟริกามีอากาศร้อนมากกว่าในสยาม
องุ่นพันธุ์นั้นยังงอกเงยมีรสชาติดี อาจจะนำมาปลูกในสยามที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกันได้
แต่เนื่องจากองุ่นพันธุ์ดังกล่าวปลูกไกลถึงทวีปแอฟริกา ครั้นจะเดินทางไปก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) จึงสืบว่าในประเทศฝรั่งเศสมีที่ไหนปลูกองุ่นพันธุ์นี้บ้างหรือไม่ จน
ทราบว่าที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงจากไร่
องุ่นและแหล่งผลิตไวน์ชื่อดัง มีองุ่นพันธุ์นี้ปลูกอยู่ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) จึงว่าจ้างให้
เจ้าของสวนตัดเถาองุ่นบรรจุใส่หีบส่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทาง
ไปรษณีย์ถึง ๒ หีบ เพื่อทดลองปลูกในสวนดุสิตก่อน ถ้าปลูกได้ผลดีจริงก็จะนำมาถวายอีก พร้อมกันนี้
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ยังจดวิธีการปลูกองุ่นเข้ามาถวายด้วย ดังนี้
วิธีปลูกต้นองุ่น
๑. พอหีบมาถึง ให้เปิดเอาต้นองุ่นที่บันจุมาในนั้น ออกรดน้ำเสียในทันใด
๒. เมื่อเลือกที่ๆ จะปลูกได้แห่งใดแล้ว ให้ขุดดินในที่นั้นขึ้นเปนหลุมประมาณศอกคืบให้ทั่วไป แล้วให้เอามูลม้าเก่าประมาณสักเดือนหนึ่ง (เพราะใช้มูลสดต้นไม้ จะทนไม่ได้) ประสมเข้ากับดินนั้นให้เท่าส่วนกัน แล้วกลับกลบลงในหลุมอย่างเดิม
๓. เมื่อเวลาจะปลูกให้แก้ดินที่ห่อรากต้นองุ่นนั้นออกล้างเสียให้สอาด แล้วขุดหลุมลงในดินที่พวนไว้ก่อนหน้านั้นลึก ๑ ศอก กว้าง ๑ คืบ ให้ยาวพอที่จะเอาต้นองุ่นลงปัก แล้วกระจายรากแผ่ออกไปให้เต็มที่ แล้วจึ่งเอาดินที่ขุดขึ้นนั้นกลบลงเสียอีก ระยะที่จะปลูกต้นองุ่นนั้น อย่าให้เบียดกันถึง ๓ ศอก เพราะรากองุ่นอาจจะงอกไปปะปนกันได้ ต้นนั้นก็ต้องปักไม้คุมผูกติดกันกับต้นอย่าให้เอนไปได้
๔. หมั่นรดน้ำอย่าให้ดินแห้งผากได้ แลรักษาอย่าให้หญ้าขึ้นเบียดเบียน
๕. ในปีแรกนั้น บางทีก็จะไม่ออกผลเลย แต่ถึงฉะนั้นก็ดี เมื่อถึงระดูใบร่วงแล้ว ให้ตัดกิ่งแลเถาที่งอกขึ้นใหม่นั้นลงมาให้สั้นอยู่ตามเดิม เหลือแขนงที่เกิดใหม่ไว้เพียงกิ่งละแขนงหนึ่งหรือสองแขนงก็พอ เพื่อว่าเมื่อแตกใบในปีน่า เถาองุ่นจะได้งอกออกจากแขนงเหลานี้ต่อไป เมื่อองุ่นออกผลแล้ว ในปีน่าๆ ต่อไป ก็ต้องตัดกิ่งแลเถาอย่างที่กล่าวมาแล้วเหมือนกันเสมอไป เปนความมุ่งหมายที่จะให้ต้นตอมีแรงให้มาก แลที่ไม่ให้มีกิ่งหรือเถาใหญ่ยืดยาวไปนั้น เพราะจะกันไม่ให้เสียอาหารในรศดินแลอากาศไปเสียกับกิ่งก้านที่ไม่มีผลเปล่าๆ
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บนุ นาค) ยังกําชับอีกด้วยว่า
“…หัวใจของวิธีปลูกองุ่นนั้น จะต้องคอยรักษาให้ต้นตอแข็งแรงอย่างที่สุดที่จะทำได้
เมื่ออกผลแล้วพอใบร่วงก็ต้องลงมือตัดกิ่งก้านลงเสียให้สิ้นเชิง เหลือกิ่งใหญ่ไว้แต่
สั้นๆ สำหรับจะได้เปนต้นเค้าที่จะให้เถางอกออกไปอีกในระดูน่าเท่านั้น เมื่อตัดกิ่ง
ก้านลงแล้ว ก็ต้องปัดเช็ดต้นเถาให้สอาดไม่ให้มีตะใคร่น้ำหรือหอยแลรังแมลงต่างๆ
ติดอยู่ได้ ทำเช่นนี้ทุกปีไป ต้นตอก็จะใหญ่แข็งแรงให้ผลมากขึ้นทุกที…”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
ส่งพันธุ์องุ่นเข้ามาถวายจากประเทศฝรั่งเศส จึงมีพระราชหัตถเลขาตอบ
ขอบพระราชหฤทัยและทรงเล่าประสบการณ์ส่วนพระองค์เกี่ยวกับการปลูกองุ่นด้วยว่า
“…ตามวิธีซึ่งกล่าวมานี้ได้เคยศึกษาไล่เลียงแต่เมื่อครั้งไปยุโรปเที่ยวอยู่ในเมืองอิตาลีเข้าใจชัดเจนดีดังเช่นว่าแต่เวลานั้นไม่มีที่ปลูกด้วยยังไม่ได้ลงมือเล่นสวนแลไม่สู้แน่ใจกลัวว่าเมืองเราจะร้อนเกินไปทั้งไม่มีเวลาที่จะได้คิดอ่านอันใดมัวแต่วิ่งไปโน่นมานี่จึงไม่ได้เอาเข้ามาด้วยแต่กระนั้นเมื่อมาถึงได้อธิบายให้แก่พวกที่เคยปลูกต้นองุ่นออกลูกมาเขียวๆเล็กๆมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์เปนต้นขอให้คิดอ่านลองดูหลายคนด้วยกันแต่ยักไม่มีใครทำตามด้วยเขาขี้เกียจเป็นธุระเพราะไม่ได้ตั้งใจจะปลูกภายหลังมีผู้นำต้นองุ่นมาให้ในเวลาสร้างสวนแต่เล็กนักเล็กหนามีแต่เถางอกขึ้นมาจากดินมอบให้พระยาเวียงในไปเลี้ยงไว้แลบอกตำราด้วยเหมือนกันว่าเขาปลูกอย่างไรครั้นนานมาหน่อยหนึ่งเห็นพระยาเวียงในเอามาปลูกทำรั้วเลื้อยยืดเป็นแถวได้ไปลองตัดดูทีหนึ่งแล้วพิจารณาดูกว่าต้นจะโตเห็นจะลึกซึ้งนักแล้วก็เป็นพรรณไม่ดีคือเป็นพรรณเม็ดองุ่นเมืองจีนที่กินๆกันอยู่ในบางกอกเพาะขึ้นเลยออกสิ้นความพยายามแต่ดินที่ปลูกนั้นไม่ได้ผสมเพราะเรื่องผสมดินนี้ขาดไปไม่ได้เรียนมาด้วยเป็นสวนเพิ่งสร้างยังอร้าอร่ามอยู่แต่บัดนี้ได้ตั้งเนิสรีแลคิดจัดการผสมดินทรายขึ้นแล้วเห็นว่าเป็นเวลาพร้อมมือที่จะทดลองได้จะได้ทำให้เต็มที่ทั้งมีฝรั่งคนสวนทำสวนอยู่คน๑พอที่จะเชื่อความหมั่นหมักพักถี่ได้…”
เถาองุ่นที่พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ส่งเข้ามาถวายนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พระยาประเสริฐศุภกิจ
(เพิ่ม ไกรฤกษ์) ตั้งแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี เป็นผู้รับผิดชอบปลูกตามวิธีที่
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ชี้แจงมา แต่เมื่อปลูกแล้วองุ่นกลับไม่งอกงามตามที่หวัง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นายเออเนสต์ เจนกิน (Earnest Jenkins)
ผู้ตรวจการสวนดุสิต ซึ่งเชี่ยวชาญด้านพฤกษาศาสตร์ ช่วยตรวจสอบหาสาเหตุ นายเออเนสต์ เจนกิน
ได้ตรวจสอบแล้วสันนิษฐานว่าสาเหตุที่องุ่นไม่เจริญเติบโต อาจเป็นเพราะการบรรจุหีบห่อไม่ดีจนเถา
เสียหาย หรืออาจไม่ถูกกับสภาพอากาศของสยาม ทำให้ความตั้งใจของพระยาสุริยานุวัตร
(เกิด บุนนาค) ที่จะหาพันธุ์องุ่นจากต่างประเทศมาปลูกถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวในสวนดุสิตจึงล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย
มหาเสวกตรี
พระยาเวียงในนฤบาล
(เจ๊กเกตุทัต)
ช่วงปลายพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัย
ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม เช่น ทำสวน ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ดังนั้น
เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชวังดุสิตเป็นการถาวรแล้ว จึงทรงกันพื้นที่
ส่วนหนึ่งไว้เป็นนาหลวง สำหรับประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทอดพระเนตรการเกษตรกรรม
และเสวยพระกระยาหารหลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจประจำวัน แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูก
ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงมีพระราชประสงค์จัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ใกล้
พระราชวังดุสิตเป็นนาหลวงแทน ทรงพระราชดำริว่าทุ่งพญาไทซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพระราชวังดุสิตมากนัก
มีภูมิสถานเหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะทางเหนือติดกับคลองสามเสนเป็นสวนผลไม้ต่างๆ ส่วนทาง
ใต้เป็นทุ่งกว้างใหญ่ มีคลองขุดแคบๆ จากคลองสามเสนไหลผ่านทุ่งไปออกคลองมหานาค
ทั้งยังเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศเย็นสบาย มีลมพัดโกรกตลอดทั้งวัน เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลจัดซื้อที่ดินจากราษฎรประมาณ ๑๐๐ ไร่ แล้วปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์
ทุ่งพญาไทให้เป็นนาหลวงตามพระราชประสงค์ คือ ขุดท้องร่องปลูกผัก ขุดคลอง ก่อคันนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา
ทำกรงเลี้ยงไก่เล็กฮอร์นขาว และสร้างโรงนาขนาดใหญ่เป็นที่ประทับชั่วคราวเหมือนบ้านชนบท
ของผู้ดีชาวตะวันตก พระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท”
ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นฤดูฝน เริ่มต้นเทศกาลทำนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงไนยนฤบาล (เจ๊ก เกตุทัต) เป็นแม่กองทำนาในทุ่งพญาไท
แต่ก่อนลงมือทำนานั้น มีพระราชดำริว่าควรประกอบพิธีเพื่อเป็นศิริมงคลแก่สถานที่และธัญพืชที่จะ
หว่านลงในแปลงนาให้คล้ายกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพระราชพิธีประจำปี
เสียก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลเริ่มนาขวัญ และให้พระยาเวียงไนยนฤบาล
(เจ๊ก เกตุทัต) รับหน้าที่เป็นพระยาเริ่มนาขวัญ โดยมีเกียรติยศอย่างเดียวกับพระยาแรกนาใน
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
รายละเอียดพระราชพิธีจรดพระนังคัลเริ่มนาขวัญครั้งนั้น ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๒๖ หน้า ๒๖๗ ดังนี้
“…วันที่ ๑๕ พฤษภาคม เจ้าพนักงานได้ตกแต่งโรงพระราชพิธีประดับประดา
ด้วยเครื่องสำหรับทำนา มีแอก ไถ คราด แลขอฉายเข้า แลอื่นๆ เปนต้น แล้ว
กั้นพระสูตร ตั้งเตียงมณฑลเล็กที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่ ประดิษฐานพระ
คันธารราษฎร์น้อย ๓ องค์ แลพระไชยเนาวโลห แลรูปโค กับตั้งเครื่อง
สักการะบูชา ตั้งพรรณข้าวปลูก ถัดน่าเตียงมณฑลออกมาตั้งเครื่องนมัสการ
แลพระแท่นทรงกราบกับตั้งพระราชอาศน์แลอาศน์สงฆ์ ภายนอกโรง
พระราชพิธีแวดล้อมด้วยราชวัติฉัตรธง แลตั้งศาลสำหรับโหรบูชาเทวดา
พร้อมสรรพ โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะแลเจ้าอธิการวัด
ที่อยู่ในอำเภอดุสิตรวม ๕ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิร
จากพระราชวังสวนดุสิตด้วยรถยนตร์พระที่นั่งโมเตอร์คาร์มาประทับที่โรง
พระราชพิธี ทรงประเคนผ้าสำรับแก่พระสงฆ์ๆ ออกไปครองผ้าแล้ว
ทรงเรี่ยรายดอกไม้บนเตียงมณฑล แลทรงวางพวงมาไลย ทรงพระสุหร่าย
ทรงเจิมพระพุทธรูปแลรูปโค แล้วทรงจุดเทียนต่างๆ เมื่อพระสงฆ์เข้ามานั่ง
พร้อมแล้ว ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ ๕ รูป มีพระวิสุทธินายกเปน
ประธาน ถวายศีล แลเจริญพระพุทธมนตร์สัตตปริตต์ แลคาถาพืชมงคล
พระยาเวียงไนยนฤบาลซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้เริ่มจรดไถ
แลหว่านเข้าในที่นาหลวงนั้น นั่งฟังสวดพระพุทธมนตร์อยู่ที่น่าอาศน์สงฆ์
ส่วนภรรยาพระยาเวียงไนยนฤบาล ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดมาสมมตเปนนางเทพี
นั้น นั่งฟังสวดพระพุทธมนตร์อยู่ด้านหลังพระสูตร ครั้นพระสงฆ์เจริญ
พระพุทธมนตร์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์แล
ทรงเจิมพระยาเวียงไนยนฤบาลกับนางเทพีทั้ง ๔ นั้นแล้ว พราหมณ์พฤฒิบาศ
ได้ให้น้ำสังข์ต่อไป ในขณะนั้น พระสงฆ์สวดไชยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์
เจ้าพนักงานลั่นฆ้องไชยประโคมพิณพาทย์ พระสงฆ์ถวายอติเรกแล้ว
เวลาทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระราชวังดุสิตรุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ พฤษภาคม เวลาย่ำรุ่งเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนิรมาประทับที่โรงพระราชพิธี ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ
ทรงศีลแล้ว เสด็จพระราชดำเนิรมาประทับที่เต๊นท์ทอดพระเนตรการพิธีเริ่มนา
ครั้นเวลาใกล้พระฤกษ์ พระยาเวียงไนยนฤบาลได้แต่งตัวเต็มยศ คือ นุ่งม่วง
สีน้ำเงิน สวมเสื้อเยียระบับ ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ สวมหมวกยอด
ขึ้นแคร่ กั้นสัปทน แต่โรงพระราชพิธีมายังลานที่จะไถ มีราชบัณฑิตเชิญพระเต้า
เทวบิฐนำ พราหมณ์เชิญพระครอบไสยสาตรแลพานพระโคนำน่า เจ้าพนักงาน
จูงกระบือชื่อทองย้อยซึ่งตกแต่งเครื่องประดับเข้าเทียมไถแล้ว พระยาเวียงไนย
นฤบาลเจิมไถแลกระบือแล้ว ได้พระฤกษ์ย่ำรุ่งแล้ว ๕๘ นาที ๒๑ วินาที
พระยาเวียงไนยนฤบาลได้ลงมือจรดไถ เจ้าพนักงานลั่นฆ้องไชย ไถดะ ๓ รอบ
ไถแปร ๓ รอบแล้ว นางเทพีทั้ง ๔ ซึ่งแต่งตัวนุ่งม่วง สวมเสื้อขาว สพายแพร
หาบกระเช้าธัญพืชมาให้พระยาเวียงไนยหว่านพร้อมด้วยนางเทพีทั้ง ๔ นั้นแล้ว
ไถกลบอีก ๓ รอบ รวม ๙ รอบเปนปฐมฤกษ์ แล้วเจ้าพนักงานได้จูงกระบือทอง
ย้อยมาพักอยู่น่าพระที่นั่ง พระยาเวียงไนยถวายบังคมแล้วมาจากลานนาพร้อม
ด้วยนางเทพีทั้ง ๔ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำกระบือซึ่งแต่งตัวเทียมไถ
เตรียมไว้ ๘ กระบือนั้น เข้ามาในลานนา ถวายตัวแล้วลงมือไถดะ ไถแปรไป
จนหมดอันนา แล้วปลดกระบือออกจากไถ ๔ กระบือ เข้าเทียมคราด ๒ คราด
แล้วเจ้าพนักงานได้ลงมือคราดต่อไป จนเวลาเช้า ๒ โมงเศษ พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ ส่วนพระยาเวียงไนยก็ขึ้นแคร่กั้นสัปทนไปยังที่โรง
พระราชพิธี ถวายของไทยธรรมแก่พระสงฆ์ ๕ รูป ส่วนสำรับคาวหวานนั้น
โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานประเคนถวายแก่พระสงฆ์ในระหว่างนั้นแล้ว
เปนเสร็จการพระราชพิธีเริ่มนาขวัญแต่เท่านี้…”
ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานประกอบ พระราชพิธี
จรดพระนังคัลเริ่มนาขวัญ ณ โรงนาหลวงคลองพญาไท เมื่อวันพุธที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ขึ้น
อีกครั้งและโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงไนยนฤบาล (เจ๊ก เกตุทัต) รับหน้าที่เป็นพระยาเริ่มนา เหมือน
เช่นปีที่ผ่านมา แต่รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง
คือ ไม่มีสวดมนต์เย็น มีแต่ฉันเช้า เป็นต้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต การพระราชพิธีจรดพระนังคัลเริ่มนาขวัญ
ก็ถูกยกเลิก พระยาเวียงไนนฤบาล (เจ๊ก เกตุทัต) จึงเป็น “พระยาเริ่มนา” คนแรกและคนเดียว
ในประวัติศาสตร์
นายพลเรือตรี
พระยาราชสงคราม
(กรหงสกุล)
อาจกล่าวได้ว่าสกุลหงสกุล เป็น “สกุลช่าง” เพราะบรรพบุรุษในสกุลตั้งแต่ พระยาเพชรพิไชย
(หง หงสกุล) พระยาเพชรพิไชย (เกศ เกตุทัต) พระยาเพชรพิไชย (หนู เกตุทัต) และพระยาราชสงคราม
(ทัด หงสกุล) ล้วนแต่เคยรับราชการมีตำแหน่งเป็นนายงานทำการก่อสร้างต่างๆ ตั้งแต่สมัยต้นกรุง
รัตนโกสินทร์ ทั้งพระมหาปราสาทราชมณเฑียร วังเจ้านาย พระอาราม ป้อมปราการ และพระเมรุมาศ
จึงฝึกหัดวิชางานช่างก่อสร้างสืบต่อกันลงมาจนถึงพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) และพี่น้อง
พระยาสามภพพ่าย (เจริญ หงสกุล) และพระนวการโกวิท (เกลื่อน หงสกุล)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
สนองพระเดชพระคุณเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความกตัญญูเนื่องในการที่พระองค์มีพระชนมายุเสมอ
ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงทรงตกลง
พระทัยว่าจะทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามซึ่งถูกฟ้าผ่าชำรุดให้สำเร็จบริบูรณ์
และจะโปรดเกล้าฯให้จัดการฉลองพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามรวมอยู่ในพระราชพิธีนั้นด้วย
แต่การปฏิสังขรณ์ดังกล่าวเป็นงานยาก ต้องได้แม่กองที่มีความรู้ความสามารถมาควบคุมดูแล
จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นแม่กอง เพราะทรงไว้วางพระราชหฤทัย
มีผลงานเป็นที่ประจักษ์หลายอย่าง เช่น เป็นนายงานการก่อสร้างพระจุฑาธุชราชฐาน เป็นผู้ตรวจการ
ก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า เป็นผู้ควบคุมการรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากพระจุฑาธุชราชฐาน
มาสร้างใหม่ในพระราชวังดุสิต และเป็นนายงานก่อสร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม