เก่าที่สุดในไทย! โครงกระดูก 29,000 ปี ที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
กรมศิลปากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน ภายในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 29,000 ปี นับเป็นหลักฐานของมนุษย์ยุคหินเก่าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เทียบได้กับช่วงปลายของยุคน้ำแข็ง (Pleistocene) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ภูมิอากาศของโลกแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก
แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินถูกค้นพบเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยเน้นศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบชายฝั่งอ่าวไทย และในปี พ.ศ. 2565 ถึงปัจจุบัน นักโบราณคดีได้เลือกทำการขุดค้นในคูหาที่ 3 ของถ้ำ ซึ่งเป็นจุดที่พบทั้งภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ โบราณวัตถุประเภทเปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก จนการขุดค้นดำเนินไปจนถึงระดับความลึกประมาณ 2 เมตรจากพื้นถ้ำ และพบโครงกระดูกมนุษย์ 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าเป็นโครงกระดูกของเด็กอายุประมาณ 6-8 ปี ซึ่งถูกฝังอยู่ในชั้นดินที่มีอายุมากกว่า 29,000 ปี
จากข้อมูลข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินปรากฏหลักฐานร่องรอยที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายหมื่นปี กลุ่มคนเหล่านี้เป็นนักล่าสัตว์และหาของป่าที่ใช้เครื่องมือหินและเครื่องมือจากกระดูกสัตว์ พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงปลายยุคน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปัจจุบันมาก ทำให้พื้นที่บริเวณอ่าวไทยยังคงเป็นแผ่นดินเชื่อมต่อไปถึงอินโดนีเซีย เมื่อยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลง อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นแนวชายฝั่งและระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์เช่นในปัจจุบัน
การค้นพบครั้งนี้นับเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์โบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงกระดูกที่พบไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานของมนุษย์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพันธุกรรม สุขภาพ และวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นได้
กรมศิลปากรคาดหวังว่าการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้ภาพเรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้