สัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ๒๕๖๘ เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒ – ๘ เมษายน ๒๕๖๘ เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมสัมผัส ศิลปะการแสดงไทย โขน ดนตรีไทย ละครพื้นบ้าน และกิจกรรมทางวัฒนธรรม มากมายแบบ ไม่มีค่าใช้จ่าย
พิธีเปิดงานจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ ๒ เมษายน ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีการแสดง นาฏศิลป์และดนตรีไทย สร้างสีสันให้กับงาน ไฮไลต์สำคัญ ได้แก่ การแสดง โขนนั่งราว เรื่องรามเกียรติ์ ชุดนาคบาศ – ยกรบ ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ วง ปี่พาทย์เสภา ยังได้บรรเลงบทเพลงสำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สะท้อนถึงความงดงามและคุณค่าของดนตรีไทยโบราณ
โดยมีนายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนเข้าร่วมงาน
“วันอนุรักษ์มรดกไทย” ตรงกับวันที่ ๒ เมษายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากรจึงจัดงานนี้เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมภาคภูมิใจและสืบสานมรดกของชาติ
ตลอดทั้งสัปดาห์ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
🎭 ชมศิลปะการแสดงไทย ทุกวัน เวลา ๑๘.๐๐ น. ณ เวทีกลางแจ้ง
-
โขน เรื่องรามเกียรติ์
-
ละครพื้นบ้าน เรื่องสังข์ทอง
-
ละครอิงประวัติศาสตร์ เรื่องเลือดสุพรรณ
📖 เสวนาทางวิชาการ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ เจาะลึกประเด็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนามรดกไทย
🎶 คอนเสิร์ต “เพชรในเพลง” วันที่ ๘ เมษายน ปิดท้ายงานด้วยการแสดงดนตรีจากศิลปินแห่งชาติและศิลปินรางวัล “เพชรในเพลง” ร่วมด้วยการบรรเลงโดย วงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต
🏛 เข้าชมฟรี! อุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในวันที่ ๒ เมษายน เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมอย่างทั่วถึง
การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกของชาติ
📍 เข้าร่วมได้ฟรี! ตั้งแต่วันที่ ๒ – ๘ เมษายน ๒๕๖๘ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมศิลปากร หรือกระทรวงวัฒนธรรม