ศัสตรา หมายถึง ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง อาวุธต่างๆ ในขณะที่ อาวุธ หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ในการทำร้าย ทำลาย ป้องกัน ต่อสู้หรือฆ่า โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ใช้ปัญญา เป็นอาวุธ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่าง ศัสตราวุธ และ อาวุธ คือ ลักษณะของความคมบนวัตถุนั้น ๆ
ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวไกล ศัสตราวุธต่างๆก็ได้รับการพัฒนาเช่นกัน จากสงครามที่เคยห้ำหั่นกันโดยพละกำลัง อาวุธของมีคมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไป เครื่องศัสตราวุธต่างๆไม่ว่าจะเป็น ดาบ, กระบี่, ทวน, ง้าว, แหลน, หลาว, มีดและกริช ฯลฯ กลับกลายเป็นของเหลือใช้ในสังคม บางแห่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในทางเกษตรกรรมแทน. แม้คุณค่าของเครื่องศัสตราวุธจึงลดลงไป แต่ก็ยังมีกลุ่มชนในบางพื้นที่ ยังคงเคารพบูชาและยกย่องในเครื่องศัสตราวุธอยู่ไม่เสื่อมคลาย มีการตกแต่ง ตั้งหิ้งบูชาศัสตราวุธ ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงมีการนำเอาศัสตราวุธที่เคยถูกใช้งานในอดีต มาเป็นของตกแต่งอาคารสถานที่ เพื่อให้เกิดบรรยากาศพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือความเข้มขลังในสถานที่นั้น ๆ หรืออาจตกแต่งให้เกิดมุมมองใหม่ในทางศิลปะก็ได้
ดังเช่นในยุคหนึ่งของประเทศสยามกำลังรุ่งเรืองในช่วงรัชกาลที่ ๕ – ๖ นอกจากจะปรากฏมีธรรมเนียมยุทธกีฬาจำลองการรบครั้งต่างๆแล้ว หากแต่ยังปรากฏมีธรรมเนียมเกี่ยวกับศัสตราวุธอย่างหนึ่งคือ “การผูกเครื่องอาวุธ” โดยธรรมเนียมนี้น่าจะมีที่มาที่ไป หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในหลายประเทศ ทำให้พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงการออกแบบตกแต่งอาคารสถานที่และความนิยมทางด้านศิลปะในยุโรปมากมาย ท้ายที่สุดพระองค์ก็ได้ทรงนำเอาธรรมเนียม ‘การผูกเครื่องอาวุธ’ มาปรับใช้กับพระที่นั่งและพระตำหนักของพระองค์ เช่น หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ซึ่งต่อมาเหล่าพระราชวงศ์และลูกหลานขุนนางไทยที่ได้ไปศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรปก็ได้นำเอาธรรมเนียมการผูกเครื่องศัสตราวุธมาจากพวกราชวงศ์ยุโรป พวกเขาจึงได้นำธรรมเนียมนี้กลับมาใช้ในราชสำนักด้วย โดยเหล่าเจ้านายหรือขุนนางผู้ทรงอำนาจที่มีเครื่องศัสตราวุธอยู่เป็นอันมากนั้น มักจะนำศัสตราวุธของตนมาผูกประดับไว้ในห้องโถงใหญ่เพื่อสำแดงบารมีของตนแก่ผู้ที่มาเยือน หรือแม้แต่นำมาตั้งแสดงในงานเลี้ยงใหญ่เพื่อโอ้อวดแก่แขกผู้มาร่วมงาน ซึ่งในบางครั้งก็ถึงขั้นมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อประกวดการผูกเครื่องศัสตราวุธโดยจำเพาะก็มีเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อมีการปฏิวัติในสมัยรัชกาลที่ ๗ แล้ว ธรรมเนียมการผูกเครื่องศัสตราวุธนี้ก็ค่อย ๆ เสื่อมหายไป กลายเป็นเพียงการประดับภายในพระตำหนักของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น มิได้แพร่หลายออกไปในหมู่ขุนนางและข้าราชการดังเก่าก่อนอีกเลย
เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง