ช้าง เป็นสัตว์ใหญ่ อยู่คู่โลกนี้ใบมานานแสนนาน ชนชาวอุษาคเนย์ต่างยกย่องให้ช้างเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขามและทรงพลังอำนาจมาแต่ดึกดำบรรพ์ จวบจนศาสนาพราหมณ์ฮินดู, พุทธศาสนา ฯลฯ ก็ได้โลดแล่น เดินทางไกลเข้ามาเผยแพร่ไปทั่วดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนอกจากคำสอนที่มุ่งเป้าหมายเพื่อการบรรลุหรือหลุดพ้นจากกรรมแล้ว สาวกผู้เผยแพร่ก็ยังได้นำเอาบทบัญญัติหรือคำสอนในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์, สิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์อันเกี่ยวเนื่องกับสัตว์ใหญ่ เช่น สิงห์ ม้า โค และที่ขาดไม่ได้ก็คือช้าง มาเผยแพร่แก่สาธุชนหน้าใหม่อันห่างไกลจากแดนภารตะอีกด้วย
นับแต่โบราณ ช้างถือเป็นสัตว์ใหญ่ที่อยู่คู่กับมนุษย์ในเกือบทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการค้า (ช้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงเวลาหนึ่ง ถูกขายเป็นสินค้าส่งออกไปยังราชสำนักต่างๆในประเทศอินเดียเช่นกัน) การคมนาคมขนส่งแบกสินค้า, เป็นยานพาหนะสำรับการเดินทาง, ใช้ในการศึกสงครามรวมไปถึงยังเป็นสิ่งที่ใช้บ่งบอกถึงอำนาจราชศักดิ์ ฐานะอันสูงล้ำของผู้ปกครองดินแดนในยุคนั้นๆ ยิ่งประกอบเข้าด้วยกับบทบาทของช้างที่ถูกบัญญัติไว้ในชาดกหรือเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนาแล้วอย่างเรื่อง ‘ช้างเผือก’ สัญลักษณ์ของความแปลกประหลาดผิดแปลกแตกต่างไปจากช้างธรรมดาทั่วไปและถือเป็นตัวแทนของบุญญาบารมีและความเป็นมงคลของผู้ที่ได้ครอบครอง ยิ่งทำให้ ‘ช้าง’ กลายเป็นตัวแทนของอำนาจวาสนาที่ผู้ปกครองในอุษาคเนย์ต่างจดจ้องที่จะได้มีไว้ในครอบครองนั่นเอง
จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดหน่วยงานที่สำคัญอันจะมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการควบคุมดูแลรักษาช้าง ซึ่งเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินขึ้น นั่นก็คือ ‘กรมพระคชบาล’ โดยหน้าที่ของหน่วยงานนี้กล่าวสั้นๆได้ว่ามีหน้าที่ตามหา คัดเลือกและดูแลเหล่าช้างทั้งในวังหลวง ตลอดจนในพระนคร(อยุธยา) หรืออาจจะทั่วทั้งพระราชอาณาจักร เพื่อดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ความชอบธรรมและความอุดมสมบูรณ์ของชาติบ้านเมือง เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงแผ่นดินใหม่ กรุงรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกฯ เหล่าช้างเผือกและช้างธรรมดาทั่วไปก็ยังคงถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์และของสำคัญของบ้านเมืองหรือดินแดนนี้อยู่ไม่เสื่อมคลาย
“กรมพระคชบาล คือใคร ทำงานอยู่ที่ไหน”
กรมพระคชบาลคือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เสาะหา จับช้างป่ามาฝึกหัด ดูแลรักษา เลี้ยงไว้ใช้ในราชการทั้งในยามปรกติและยามสงคราม ดังที่สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๓ อักษร ฉ–ต ฉบับราชบัณฑิตยสภา อธิบายไว้ว่า ‘กรมช้างหรือกรมพระคชบาล ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาได้ใน พ.ศ.๑๙๗๔ ได้ตำราคชศาสตร์และพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญวิชาช้างเข้ามาจำนวนมาก จนกระทั่งมีการชำระตำราช้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กรมช้างหรือกรมพระคชบาลมีกรมมย่อยในสังกัด ๘ กรม แต่ละกรมในสังกัดล้วนแต่มีหน้าที่เกี่ยวกับช้างหลวงทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่จะมารับหน้าที่กำกับราชการดูแลช้างต่างๆ ช้างหลวง อาจรวมไปถึงช้างเผือกคู่บารมีพระมหากษัตริย์ จึงต้องเป็นผู้ที่นอกจากจะรับใช้ใกล้ชิดแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้อย่างมาก เช่น บุคคลในวงศาคณาญาติ
เมื่อเล่าถึง กรมพระคชบาล แล้ว ก็ต้องกล่าวถึงสถานที่ๆใช้ในการทำงานหรือประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับช้าง ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล จากตำราครั้งสมัยเก่าต่างกล่าวไว้ว่า เพนียดคล้องช้าง อยุธยา สร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป้นราชานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีฝั่งตะวันตก มีคลองผ่านด้านหน้าเพนียดลงไปทางทิศใต้ เรียกว่า ‘คลองเพนียด’ แต่เดิมเพนียดตั้งอยู่ที่วัดซอง ด้านเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ครั้งถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์โปรดให้ขยายกำแพงพระนคร ด้านทิศตะวันออกไปที่ริมน้ำ และโปรดให้ย้ายเพนียดที่วัดซองไปตั้งอยู่นอกเขตพระนคร ที่ตำบลทะเลหญ้า (สวนพริก) ริมวัดบรมวงศ์อิศวราราม ดังปรากฏในปัจจุบัน
ครั้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้บูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะเพนียดอีกหลายครั้ง ขณะที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้ฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพระคชบาล พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์วัดทุ่งทะเลหญ้า ให้เป็นที่ทำบุญของเจ้าพนักงานในกรมพระคชบาล และได้รับพระราชทานนามใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วัดบรมวงศ์อิศวราราม”
“การโพนช้าง คล้องช้าง”
เมื่อกล่าวถึงการเสาะหาหรือจับช้างป่าแล้วนั้น ก็ต้องกล่าวถึง “การคล้องช้าง” ที่เพนียดด้วยเช่นกัน เพราะนับเป็นอีกหนึ่งหน้าที่หลักของกรมพระคชบาล โดยในอดีต การคล้องช้างเกิดขึ้น ก็เพื่อนำช้างมาใช้ในราชการ อาทิ ช้างพระที่นั่งต้น ช้างพระที่นั่งรอง ช้างศึกและช้างหลวงสำหรับงานพระราชพิธี ช้างเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นพาหนะที่สำคัญที่สุด และมีประโยชน์อย่างมากทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม
ช้างพระที่นั่งต้น หรือช้างต้น กับช้างพระที่นั่งรอง จะถูกกำกับดูแลเป็นพิเศษ โดยกรมพระคชบาลเพื่อให้ถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะเสด็จไปควบคุมและดูแลด้วยพระองค์เอง การคล้องช้างในเพนียดนอกจากจะได้ประโยชน์ในการจับช้างไว้ใช้งานแล้ว ยังถือเป็นการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจ มีข้าราชการพ่อค้าและประชาชนให้ความสนใจเข้าชมอย่างมาก ดังพระดำรัสเปรียบเปรยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ล้นหล้าฟ้ามืด” เนื้อจากผู้คนแห่ไปดูกันมาก ทั้งจากพระนครและจังหวัดใกล้เคียง โดยปกติการคล้องช้างในเพนียดจะใช้เวลาทั้งสิ้น ๔ วัน คือ
วันที่หนึ่ง ต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด
วันที่สอง คล้องช้างใหญ่ในเพนียด
วันที่สาม คล้องช้างย่อมที่กลางแปลง (คล้องช้างขนาดเล็ก)
วันที่สี่ ต้อนช้างกลับไปปล่อยป่า
การคล้องช้างในสมัยโบราณนั้น มี ๓ วิธี คือ
๑. วิธีวังช้าง คือการจับช้างเถื่อนทั้งโขลงด้วยการตั้งคอกในป่าเพื่อต้อนโขลงช้างเถื่อนเข้าคอกที่ทำไว้ แล้วจึงคัดจำนวนช้างเชือกที่ต้องการจะนำมาใช้งาน
๒. วิธีโพนช้าง คือการจับช้างโดยนำเอาช้างจำนวนมากไปไล่ต้อนช้างเถื่อนในป่าทีละเชือก มักจะคล้องกันครั้งละ ๔-๕ เชือก เล่ากันว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดวิธีนี้มากและมักจะเสด็จไปโพนช้างในป่าด้วยพระองค์เอง
๓. วิธีจับเพนียด หรือวิธีแบบหลวง คือการต้อนโขลงช้างเถื่อนในป่าเข้ามาในคอกที่เรียกว่า ‘เพนียด’แล้วเลือกคล้องเฉพาะช้างเชือกที่ต้องการ ส่วนที่เหลือปล่อยกลับเข้าป่าตามเดิม
การสร้างเพนียดถาวรไว้คล้องช้างนั้นเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง และสำหรับเจ้ากรมพระคชบาลในสมัยอยุธยา จะมีตำแหน่งเป็น พระเพทราชา ซึ่งคนสำคัญและที่เป็นที่รู้จักคงหนีไม่พ้น สมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๒๘ ของกรุงศรีอยุธยา ที่นับเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจท่านหนึ่งซึ่งไต่เต้าจากขุนนางคนสำคัญในกรมช้างแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสู่การเป็นพระมหากษัตรย์ในลำดับต่อมา
ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตำแหน่งอธิบดีใหญ่ของกรมพระคชบาลนั้น มักจะตกอยู่กับลูกชายหรือพี่ๆน้องขององค์พระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ดังเช่นในช่วงรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอินทรพิพิธ พระราชโอรสได้ทรงกำกับราชการกรมพระคชบาล รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ พระราชอนุชาได้กำกับราชการกรมนี้ และในรัชกาลที่ ๓ ก็ได้หม่อมไกรสร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ซึ่งมีฐานะเป็นพระปิตุลาที่ใกล้ชิดมารับกำกับราชการเป็นอธิบดีในกรมนี้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าเป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดสนิทสนมจนเป็นที่ไว้วางใจทั้งสิ้น จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ หรือเจ้าฟ้ากลางนั้น เป็นพระราชอนุชาที่สนิทสนมและไว้วางพระราชหฤทัยกันมาแต่ก่อนจะได้รับพระราชสมบัติ จึงเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆหลายตำแหน่งในช่วงเวลานั้น รวมถึงตำแหน่งอธิบดีกรมพระคชบาลด้วย
“เจ้าฟ้ามหามาลา กับบทบาทของเจ้ากรมพระคชบาล”
พระภารกิจของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็น เจ้ากรมพระคชบาลนั้น สิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากที่อาจต้องทรงลงไปควบคุมเองในหลายๆครั้ง คือการคล้องช้าง ดังปรากฏใน “หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔” (ฉบับพระยาทิพากรวงศ์) ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์ เมื่อครั้งสมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เสด็จไปตามหาช้างเผือกในแขวงเมืองนครนายกว่า
‘ในเดือน ๒ นั้น ดำรัสว่า เมื่อเดือน ๑๑ นั้น มีผู้ได้เห็นช้างเผือกลูกโขลงกินอยู่ที่ท้องทุ่ง แขวงเมืองนครนายก ครั้นจะให้ออกไปสืบดู ก็เป็นฤดูน้ำอยู่ บัดนี้ตกแล้งแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลาเสด็จขึ้นไปเอาช้างต่อหมอควาญ กรมช้างโขลงไปช่วยค้นดู’
ในช่วงที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลาฯ เสด็จไปตามช้างเผือก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานถึงสมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลาฯ สม่ำเสมอ
ดัง ‘พระราชหัตถเลขา’ ฉบับวันที่ ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จ.ศ.๑๒๒๕ (๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖) ความว่า
“จดหมายมายังพ่อกลาง เจ้าฟ้ามหามาลาให้ทราบ หนังสือของเธอที่ลงวันที่ ๑ ฯ ๔ ค่ำ กับหนังสือเพทราชาที่ลงวันนั้น ซึ่งหมื่นศิริคชถือมา ความคิดที่จัดการตามช้างที่บอกมานั้นชอบด้วยราชการอยู่แล้ว และการที่จะคิดต่อไปว่า ถ้าไม่พบครั้งนี้ จะค้นที่ดงนครแลที่อื่นต่อไปนั้น ก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว จงอุตส่าห์คิดอ่านต่อเถิด เมื่อเสบียงอาหาร ฤๅอะไรไม่พอเกือบจะหมดสิ้นลง ก็จงบอกให้ทราบ จะได้จัดไปในเวลาต้องการ”
อีก ๓ วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานมาถึง สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลาฯ อีกฉบับว่า
“จดหมายถึงพ่อกลาง เจ้าฟ้ามหามาลา พวกกรมช้างถือลงมาครั้งก่อนได้ความว่า ลูกช้างโขลงในดง คงจะตกทุ่งในวัน ๒ ฯ๑๔ ๔ ค่ำ …ถ้าจริงดังนั้น ในวันนั้นช้างตกทุ่งแล้ว ถ้าช้างสำคัญมีอยู่ในโขลงก็เห็นตัวแล้ว จะกันมาแล้ว ใบบอกก็เห็นจะมาถึงแล้ว เพราะแต่วัน ๔ ฯ๑๔ ๔ มาจนวัน ๑ ฯ๕ ๔ ค่ำ นี้ล่วงมาได้ ๖ วันแล้ว
…ถ้าแม้นช้างสำคัญไม่พบในโขลง กลัวจะพาเสียใจโลเลกันไปหมด ไม่ค้นต่อไปดอกกระมัง ถ้าเป็นดังนั้น การก็หละหลวมไป จะเป็นที่เสียใจและสงใสไปต่างๆ
…เมื่อค้นไม่พบในดงนี้ ก็คิดค้นดงโน้น อย่าให้มีที่สงสัยว่าช้างสำคัญจะเข้าไปค้างอยู่ในดงและตามรอยค้นในดงอื่นต่อไป
…ฤดูแล้งจะเป็นที่จะทำได้ ยังมีอีกเดือนเศษคิดให้ดีอย่าให้เสียเวลา ช้างโขลงที่กันมาได้ ถ้ามีช้าง มีคนจับได้ ถ้าคิดจับใช้ราชการจะจับคอกบ้านนาและอื่นๆข้างนอกไปพลางๆจะได้หรือไม่
…ได้ยินชายเป๋า (หม่อมเจ้าเป๋า ในเจ้าฟ้าอาภรณ์) บอกว่าจับช้างพลายงามๆไว้ได้สามช้างแล้ว การที่จะจับช้างอื่นก็ทำไปพลางๆ ติดตามช้างสำคัญให้สิ้นสงสัยให้จงได้ จะคิดการอย่างไร ทำการอย่างไร จงบอกให้แจ้งเนืองๆ
จากพระราชหัตถเลขาหลายฉบับ ทำให้เราได้เห็นว่า ตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาลเป็นตำแหน่งที่สำคัญและต้องอยู่ในมือของผู้ที่องค์พระมหากษัตริย์ไว้วางใจ เพราะงานที่เกี่ยวข้องกับ ‘ช้าง’สัตว์ใหญ่และสัตว์มงคลนั้น มีสถานะอันศักดิ์สิทธิ์รวมไปถึงอาจเป็นหน้าเป็นตาและพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่แก่ผู้ที่ได้ครอบครอง ดั่งความคำสัญของช้างที่พบในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอันกล่าวถึงความเป็น ‘พระจักรพรรดิราช’ซึ่งดินแดนต่างๆในแถบอุษาคเนย์ต่างให้ความสำคัญอย่างมากนั่นเอง
ในปัจจุบันนั้น พิธีคล้องช้างที่เพนียดนั้นได้หายไปจากสังคมไทยแล้ว เวลาผ่านไป วัฒนธรรมประเพณีจากอดีตนั้นกลับถูกจัดเก็บแค่เพียงในตำราและหนังสือที่บอกเล่า…แทนการได้สัมผัสเหตุการณ์จริงอันน่าตื่นตาตื่นใจ ดั่งเช่นที่ชนชั้นปกครองในอดีตได้เคยพรรณนาเอาไว้…