การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดย “คณะราษฎร” ประกอบด้วยคณะนายทหารบก นายทหารเรือ และพลเรือน เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศอย่างยิ่ง
เรื่องราวปฏิบัติการของคณะผู้ก่อการในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเรื่องที่ทราบกันอย่างแพร่หลาย แต่สำหรับเรื่องราวของข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร ทว่าต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะข้าราชการที่เป็นนายทหารชั้นนายพลหรือที่มีความใกล้ชิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงแพร่หลายเท่าใดนัก คงปรากฏแต่ในบันทึกความทรงจำหรือหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของข้าราชการท่านนั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายหากเรื่องราวเหล่านี้จะถูกจำกัดอยู่เพียงในหน้าหนังสือเก่าหายาก ไม่มีโอกาสเผยแพร่ให้สาธารณชนผู้สนใจประวัติศาสตร์ได้อ่านกันทั่วไป
โดยข้าราชการทหารชั้นสูง ระดับชั้นสัญญาบัตร ไม่ว่าจะเป็นนายพัน นายพล เสนาธิการกรมต่างๆในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากในการจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือกรณีของ นายพลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) ยกกระบัตรทหารบก (หรือเจ้ากรมพลาธิการทหารบกในปัจจุบัน)
หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ที่วังพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำภู ริมคลองหลอดฝั่งตะวันตก (ปัจจุบันคือบริเวณถนนอัษฎางค์และอาคารศาลฎีกา) เป็นบุตรของพันเอก หม่อมเจ้าชื่น กำภู กับหม่อมพุ่ม ได้รับการศึกษาอบรมจากบิดามารดาตามประเพณี แล้วจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ จนสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นนายทหารประจำกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ (กรุงเทพฯ) เป็นนักเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นนายเวรกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ (กรุงเทพฯ) เป็นนายทหารประจำกองร้อยที่ ๔ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นนายทหารประจำกองร้อยที่ ๒ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นผู้รั้งผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ (กรุงเทพฯ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นผู้บังคับกองร้อยพิเศษ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นปลัดกรมบัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นปลัดกรมเสนาธิการทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นเกียกกายทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นผู้รั้งเจ้ากรมโรงงานเกียกกายทหารบกด้วยอีกตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นยกกระบัตรทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ และออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญด้วยเหตุยุบเลิกตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
ยศและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ เป็นว่าที่ร้อยตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นร้อยตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นร้อยโท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นร้อยเอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นหลวงสรชาญพลไกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นพันตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นพันโท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นพระสรชาญพลไกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นพันเอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นพระยาสุรเสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ และเป็นพลตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖
พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) เป็นนายทหารที่มีนิสัยเข้มแข็ง เด็ดขาด มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ยอมเชื่ออะไรใครง่ายๆ และพิจารณาเรื่องต่างๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของยกกระบัตรทหารบก ซึ่งตนเองดำรงตำแหน่งอยู่นั้น เช่น การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ ครุภัณฑ์ ยานพาหนะ ของกองทัพบก ก็จะพิจารณาไตร่ตรองโดยคำนึงถึงหลักการและประโยชน์ของกองทัพเป็นสำคัญ ส่วนความเหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องรองลงมา หากพิจารณาแล้วเห็นว่ากองทัพได้ประโยชน์ก็ยินยอมอนุญาตทันที ในทางตรงข้าม หากพิจารณาแล้วไม่อาจแลเห็นว่ากองทัพจะได้ประโยชน์อะไร พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) ก็พร้อมคัดค้านหัวชนฝาเช่นกัน
ในระหว่างการประชุมใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจัดขึ้น ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประจำ ทุกปี พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) มักแสดงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของนายทหารคนอื่นๆ ในที่ประชุม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองเป็นประจำ บางครั้งพลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) อาจจะพิจารณาแค่ว่าข้อเสนอเรื่องนั้นๆ เป็นประโยชน์ต่อกองทัพหรือไม่อย่างไร แต่สำหรับนายทหารผู้ที่เสนอเรื่องดังกล่าวก็อาจไม่ชอบใจนักที่ถูกคัดค้าน
พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร และนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของประเทศไทย ให้ข้อมูลแก่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไว้ในหนังสือ “เบื้องหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕” ว่า ความรู้สึกไม่พอใจต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกเพราะถูกพลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) คัดค้านข้อเสนอของตนเองในการประชุมใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๓
“…การประชุมปรึกษาข้อราชการประจำปีที่กระทรวงกลาโหมนั้น มีประเพณีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานเป็นจอมทัพทรงนั่งเป็นประธานในที่ประชุมประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่ พวกแม่ทัพ และผู้บัญชาการต่างๆ ชั้นนายพล ประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เข้าร่วมในการประชุมด้วยในตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่ ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นผู้มีอาวุโสน้อยที่สุดในที่ประชุม การประชุมนายทหารผู้ใหญ่ประจำปีเช่นนี้เป็นการประชุมเพื่อที่จะฟังคามคิดความเห็นนายทหารผู้ใหญ่ในเรื่องทั่วๆไป ในราชการทหาร พระยาพหลฯ ได้เสนอเรื่องสำคัญให้ที่ประชุมพิจารณา ๒ เรื่อง ท่านจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่จำได้แน่นอนว่าได้รับการโต้แย้งคัดค้านจากพระยาสุรเสนา เจ้ากรมเกียกกาย เมื่อได้ตอบโต้อยู่พักหนึ่งปรากฎว่าความเห็นของเจ้าคุณพหลฯ มีน้ำหนักเป็นที่พอใจของที่ประชุม แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อนายทหารผู้ใหญ่ได้คัดค้านความเห็นของท่านแล้ว องค์จอมทัพผู้เป็นประธานก็ให้ถือตามความเห็นของผู้อาวุโส เรื่องสำคัญสองเรื่องที่ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เสนอขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมนายทหารผู้ใหญ่ชั้นนายพลนั้นก็เป็นอันตกไป…”
มีหลักฐานว่า ๑ ใน ๒ เรื่องที่พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ตั้งแต่ยังมียศและตำแหน่งเป็นพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จเรทหารปืนใหญ่ เสนอในการประชุมใหญ่ของกระทรวงกลาโหมปีนั้น คือ ขอให้ยกเลิกการใช้แรงงานนักโทษจากเรือนจำประจำจังหวัดลพบุรีมาแผ้วถางป่าและทำถนนในโรงเรียนทหารปืนใหญ่โคกกระเทียม แล้วเปลี่ยนไปใช้แรงงานนักโทษทหารจากเรือนจำมณฑลทหารบกต่างๆ แทน ซึ่งมีข้อดีมากกว่า แต่ พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) แสดงความคิดเห็นคัดค้านว่า การใช้แรงงานนักโทษจากเรือนจำประจำจังหวัดลพบุรี เป็นการสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย ต่างกับการใช้นักโทษทหารจากเรือนจำมณฑลทหารบกต่างๆ ไปทำงานที่จังหวัดลพบุรี ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทางจำนวนมาก เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ข้อเสนอเรื่องดังกล่าวจึงตกไป
แน่นอนว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) จะถูกปลดออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุนพร้อมนายพลคนอื่นๆ ในกองทัพตามโครงสร้างเก่า แต่เนื่องจากมีความรู้ความสนใจเกี่ยวกับวิชางานช่างก่อสร้าง เมื่อออกจากราชการประจำแล้ว พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) หันมาประกอบอาชีพทางการก่อสร้าง โดยก่อตั้งสำนักงานก่อสร้างชื่อ “สุรเสนา” จนเป็นที่รู้จักในวงการก่อสร้างทั่วไป มีผลงานการก่อสร้างที่สำคัญ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนลุมพินี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาคารในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงบ้านพักอาศัยของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และคหบดีอีกจำนวนหนึ่ง
พลตรี พระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิด กำภู) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเบาหวาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวมอายุ ๖๒ ปี และพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙