สงครามฝิ่น:
ปัจจัยแห่งความตกต่ำของราชวงศ์แมนจู
จักรวรรดิอังกฤษ ประเทศคู่ค้าสำคัญอีกเจ้าหนึ่งของราชวงศ์ชิง ซึ่งดำเนินการค้าโดยบริษัทอินเดียตะวันออก (British East Indian Company) มาอย่างยาวนาน แต่ก็ประสบปัญหาขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลให้แก่จีนตลอดมา เนื่องจากการนำเข้าใบชาจากจีนจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถขายสินค้าให้แก่จีนได้อย่างเสรี ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกขาดทุนมาโดยตลอด แต่แล้วบริษัทอินเดียตะวันออกก็ได้พบสินค้าใหม่ซึ่งสามารถทำกำไรให้บริษัท ฯ ได้อย่างงดงาม นั่นก็คือ ฝิ่น ซึ่งปลูกในอินเดียแล้วนำเข้ามาขายในประเทศจีน ส่งผลให้สถานภาพการค้าของทั้งของทั้งสองประเทศพลิกกลับ โดยการเสียเปรียบดุลการค้าของอังกฤษดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๐ – ๑๘๑๐ จีนเคยได้เปรียบดุลการค้า ๒๖ ล้านดอลล่าร์ ในระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๘ – ๑๘๓๖ จีนต้องขาดดุลการค้าถึง ๓๘ ล้านดอลล่าร์ [1]
นอกจากการขาดดุลการค้าให้แก่อังกฤษที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พระจักรพรรดิเต้ากวังและรัฐบาลชิงได้ตระหนักถึงพิษภัยของการเสพติดฝิ่นของคนจีนในทุกชนชั้น ในปี ค.ศ. ๑๘๓๘ จึงได้ประกาศห้ามนำเข้าฝิ่นและผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิตทั้งผู้ค้าและผู้เสพ อย่างไรก็ตามฝิ่นยังคงหลั่งไหลเข้าไปยังแผ่นดินจีน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศตะวันตก เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ เจ้าหน้าที่ทางการจีนยึดฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษจากท่าเรือในกวางโจว ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ของปีเดียวกัน อังกฤษทำเรื่องขอฝิ่นที่ถูกยึดคืนจากจีน แต่ถูกปฏิเสธ สถานการณ์ลักลอบขนฝิ่นเข้าประเทศจีนกลับยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทางการจีนบังคับให้พ่อค้าอังกฤษลงนามในข้อตกลงที่จะไม่ค้าขายฝิ่น หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษประหารชีวิต พ่อค้าอังกฤษที่ทำการค้าฝิ่นปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นเรื่องประท้วงรัฐบาลอังกฤษที่ส่งฝิ่นมาขายที่ประเทศจีน รัฐบาลอังกฤษบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าว แต่กลับอ้างว่าการที่รัฐบาลชิงยึดทรัพย์สินของชาวอังกฤษเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและขอสินค้าคืน รัฐบาลจีนปฏิเสธและนำฝิ่นที่ยึดได้ทำลายและโยนทิ้งลงทะเล อังกฤษจึงถือเป็นข้ออ้างในการยกกองกำลังปิดล้อมชายฝั่งมณฑลกวางตุ้งรวมถึงฮ่องกง จีนพ่ายแพ้สงคราม และได้ลงนามในสนธิสัญญานานกิง ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ เพื่อยุติสงครามกับประเทศอังกฤษ รัฐบาลจีนต้องชดใช้ค่าฝิ่นที่ทำลาย จ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้แก่อังกฤษ และเปิดเมืองท่าชายทะเล ๕ แห่ง ได้แก่ กวางโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และ เซี่ยงไฮ้ รวมถึงยกเกาะฮ่องกงและเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่โดยรอบเป็นเขตเช่าของอังกฤษ
ประเทศจีนและอังกฤษลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกบนเรือรบ HMA Cornwallis ของอังกฤษซึ่งจอดอยู่ที่เมืองนานกิง สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฉบับแรกที่จีนทำกับมหาอำนาจตะวันตก ๖ สาระ ในสัญญา มีผลทำให้ระบบการค้าผูกขาดแบบ “ก้งหอง” หรือ “กงหาง” ถูกยกเลิก การเปิดเมืองท่าในชายฝั่งภาคตะวันออก ๕ เมือง พร้อมด้วยท่าเรือในเมืองเหล่านี้มีสถานะเป็นท่าเรือตามสนธิสัญญา (Treaty Port) มหาอำนาจตะวันตกเป็นผู้ประกอบการบรรทุกขนถ่ายสินค้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าภาระท่าเรือให้แก่รัฐบาลจีน อัตราภาษีนำเข้าอยู่ในอัตราคงที่และต่ำมาก กล่าวคือ จากร้อยละ ๖๕ เหลือเพียงร้อยละ ๕๗ ทั้งหมดนี้ทำให้จีนแทบไม่มีรายได้จากการค้ากับชาติตะวันตก การนำเข้าสินค้าได้อย่างเสรีมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพื้นบ้านของจีนอย่างรุนแรง
ผลกระทบของสนธิสัญญานานกิงในด้านสังคมที่ร้ายแรงที่สุด คือ การค้าฝิ่นเป็นเรื่องถูกกฎหมายโดยถือว่าเป็นยารักษาโรคและสามารถทำได้โดยเสรี ทำให้สังคมจีนอยู่ในสภาพอ่อนแอ คนจีนจำนวนมากอยู่ในสภาพติดยาเสพติด นอกจากนี้สินค้าราคาถูกที่ผลิตจากเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมจากยุโรปหลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ และก่อให้เกิดปัญหาคนว่างงานจำนวนมหาศาล ๘ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ชาวอังกฤษรวมถึงคนในอาณัติได้รับ ทำให้ชาติตะวันตกสามารถแผ่อิทธิพล เข้าในประเทศจีนอย่างกว้างขวาง
ในแผ่นดินสยามนั้น ชาวจีนได้เข้ามาทำการค้าขายรวมถึงอพยพเข้ามาพักอาศัยอยู่อย่างช้านานแล้ว ซึ่งก็หนีไม่พ้นการนำฝิ่นเข้ามามาขายให้แก่พวกชาวจีนด้วยกันด้วย เข้าใจว่าสยามเริ่มมีฝิ่นตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีการเสพฝิ่นแพร่หลายในหมู่คนไทยที่อาศัยอยูแถบหัวเมืองชายทะเล ทั้งชายทะเลฝั่งตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระนอง ตะกั่วป่า ภูเก็ต และหัวเมืองชายทะเลภาคใต้ทั่วไป ตั้งแต่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะที่เมืองสงขลา เมื่อการค้าฝิ่นขยายตัวกำไรได้อย่างงอกงาม อังกฤษจึงขยายตลาดค้าฝิ่นเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำการเช่าเกาะหมากหรือปีนัง ปีนังนั้น ถือเป็นดินแดนของไทยมาแต่เดิม ต้องเสียให้แก่อังกฤษ เพราะพระยาไทรบุรีแอบยกให้อังกฤษเช่าในรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ตั้งสถานีการค้าโดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์การค้าฝิ่นแก่ไทยในแถบนี้
รัฐบาลสยามติดตามความเป็นไปและสถานการณ์ในแผ่นดินจีนมาโดยตลอด และตระหนักดีถึงโทษของการสูบฝิ่นของชาวจีน ที่นอกจากจะแพร่หลายในหมู่ชนชั้นแรงงานชาวจีนแล้วยังกระจายไปสู่ชาวสยามอีกด้วย จึงเกิดการตรากฎหมาย พิจารณากำหนดโทษแก่ผู้ที่สูบฝิ่นและขายฝิ่นนั้น อันเป็นโทษร้ายแรง เช่น แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ออกประกาศในลักษณะป่าวร้อง มิให้พลเมือง “สูบฝิ่น กินฝิ่นและซื้อฝิ่นขายฝิ่น” ส่วนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชกำหนด “ห้ามซื้อขายฝิ่นสูบฝิ่น” โดยกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน คือ ถูกเฆี่ยน ๓ ยก ยกหนึ่ง ๓๐ที ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน ถูกริบทรัพย์ ริบบุตรภรรยา ตนเองต้องเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้ที่รู้เห็นเป็นใจให้มีการสูบและขายฝิ่นจะมีโทษถูกเฆี่ยน ๒ ยก นั่นเอง
ปรากฏในเวลาต่อมาว่า การสูบฝิ่นมิได้ลดลงแม้แต่น้อยเลย พุทธศักราช ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติห้ามสูบฝิ่นอีกครั้ง ได้ทรงมีมาตรการช่วยเหลือผู้สูบฝิ่น ผ่อนผันเวลาให้สามารถละเลิกได้อย่างถาวรในเวลา ๑๐ เดือน ถ้าสามารถเลิกได้ก็จะไม่มีโทษ แต่จะเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเลิกได้ด้วยการริบบุตรภรรยาให้เป็นคนโทษ ไปทำหน้าที่สีข้าวในฉางหลวง ส่วนพ่อค้าที่มีฝิ่นอยู่ในครอบครอง ให้นำมามอบไว้เเก่เจ้าพนักงาน รอจนกว่าถึงฤดูมรสุมเรือล่องไปเมืองจีน ก็ให้เจ้าของฝิ่นมารับนำ ออกไปนอกพระราชอาณาจักรให้หมดสิ้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกปรับเท่าราคาฝิ่น นำฝิ่นไปถ่วงน้ำ เจ้าของฝิ่นถูกเฆี่ยน ๓ ยก ริบทรัพย์ ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนน้ำ ๓ วัน แล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างเหมือนกับผู้สูบฝิ่น
จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามได้ส่งราชทูตไปเมืองจีนอีกครั้งหนึ่ง ใน ปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ภายหลังขึ้นครองราชสมบัติครบ ๑ ปี นับเป็นการแต่งทูตเชิญพระราชสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการแก่แผ่นดินจีนตามธรรมเนียมอีกครั้ง หลังจากการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน โดยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ระบุว่า “ตั้งแต่เถลิงถวัลยราชสมบัติ ยังหาได้แต่งทูตออกไปจิ้มก้อง เชิญหองกรุงปักกิ่งไม่ จึ่งแต่งทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นเครื่องราชบรรณาการตามธรรมเนียม ออกไปเชิญหองใจความว่า พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาราชาภิเษกใหม่ มีพระราชรำพึงถึงทางพระราชไมตรี สมเด็จพระเจ้าเตากวางผู้ใหญ่ ซึ่งมีมาแต่ในกาลก่อน จึ่งแต่งให้พระสวัสดิ์สุนทรอภัย ราชทูต หลวงบวรเสนหา อุปทูต หลวงพจนพิมล ตรีทูต ขุนพินิจวาจา ปั้นสื่อ ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อใหญ่ จำทูลพระสุพรรณบัฏพระราชสาส์นคำหับ เครื่องมงคลราชบรรณาการตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ออกมาจิ้มก้องเชิญหองสมเด็จพระเจ้าเตากวางตามขนบธรรมเนียมราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินราชาธิราชเจ้าสืบมา ถ้าราชทูต อุปทูต ตรีทูต ข้าหลวงมีชื่อมาถึงแล้ว ขอให้ได้เฝ้ากราบถวายบังคมโดยทางพระราชไมตรี แล้วขอให้ทูตานุทูตได้กลับเข้าไป ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา โดยสะดวก ได้ประทับดวงตาโลโตออกมาจะผิดชอบเหลือเกินประการใดขอให้ทรงพระเมตตาด้วย” ซึ่งคณะทูตกลุ่มนี้ทำภารกิจสำเร็จภายในเวลา ๑ ปี ก็ได้กลับแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ซึ่งครั้งนี้รัฐบาลสยามก็ได้ทราบถึงปัญหาภายในของเมืองจีนที่กำลังประสบอยู่ นั่นก็คือปัญหาที่ชาวจีนติดฝิ่นกันมากมาย และสาเหตุที่สำคัญของการแพร่ระบาดของฝิ่นในประเทศจีน คือ บริษัทอินเดียตะวันออกของจักรวรรดิอังกฤษนั่นเอง
และในปี พ.ศ.๒๓๖๙ นี้เองอังกฤษส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าการขัดแย้งกับอังกฤษเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทรงเห็นชอบที่จะทำสนธิสัญญากับอังกฤษในหัวข้อทางการค้าขายในทางเบื้องต้น ซึ่งยังคงรักษาผลประโยชน์ของพระราชอาณาจักรของพระองค์ไว้ได้ และเรื่องฝิ่นก็เป็นเรื่องใหญ่ที่พระองค์ให้ความสนใจ โดยการทำสนธิสัญญาในครั้งนี้ สยามได้ขอยกเว้นการค้าฝิ่นโดยมีการระบุในสนธิสัญญาไว้ชัดเจนว่า
“ห้ามมิให้ลูกค้าเอาฝิ่นซึ่งเป็นของต้องห้ามเข้ามาค้าขาย ณ เมืองไทยเป็นอันขาด ถ้าลูกค้าขืนเอาฝิ่นเข้ามาขายเมื่อใด ให้พระยาผู้ครองเมืองเก็บริบเอาฝิ่นเผาไฟเสียให้สิ้น…” นับเป็นการประกาศนโยบายชาติให้ชาวตะวันตกและชาวต่างประเทศอื่นเข้าใจอย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีการลักลอบซื้อขายฝิ่นในตลาดมืดทั้งในพระนคร (กรุงเทพฯ) และหัวเมืองที่มีตลาดค้าขายขนาดใหญ่ เพราะฝิ่นทำกำไรให้แก่ผู้ขายได้อย่างดีและคนติดแล้วมักเลิกยาก
การปราบปรามฝิ่นไปได้ด้วยยากยิ่ง เพราะมีชาวจีนอพยพหลั่งไหลมาสู่ประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาภายในหลายประการ เดินทางเข้ามาเป็นละลอกๆ ทุกเที่ยวเรือสินค้า จนกล่าวได้ว่า เฉพาะในพระนคร (กรุงเทพฯ) แทบจะมีชาวจีนมากกว่าคนไทย ทั้งนี้ ไม่รวมพวกที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลทั่วไป บรรดาชาวจีนเหล่านี้ มีชาวจีนที่ติดฝิ่นปะปนอยู่ด้วยจำนวนมาก
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๘๒ หรือ ค.ศ. ๑๘๓๙ สงครามฝิ่นครั้งแรกจึงอุบัติขึ้น และด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างจักรวรรดิต้าชิง (จีน) ผู้หยิ่งทะนงและจักรวรรดิอังกฤษผู้เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีอันเพียบพร้อมในขณะนั้น ทำให้มหาอำนาจยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียกลับล้มลงเป็นครั้งแรก เนื้อข่าวของการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ขจรขจายไปไกลสู่ดินแดนต่างๆทั่วโลก แต่ในราชอาณาจักรของพระเจ้ากรุงสยามนั้น ความพ่ายแพ้ของจีนต่อกองทัพจักรวรรดิอังกฤษกลับไม่ใช่เรื่องใหญ่โต หรือเรื่องที่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะสยามยังคงมีความมั่นใจในตัวของพี่ใหญ่อย่าง ต้าชิง ที่อาจจะพลิกกลับมาชนะพวกตะวันตกได้ในการสงครามครั้งถัดไป อีกปัจจัยหนึ่งด้วยการค้าขายสำเภาระหว่างสยามกับจีนยังคงรายเรียบไม่มีเรื่องติดขัด จึงทำให้สยามยังไม่มีท่าทีใส่ใจในข่าวสารเรื่องนี้มากนัก อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงสอบถามเรื่องแต่งเรือสำเภาค้าขายตามเมืองท่าต่างๆอยู่เสมอ รวมถึงมีนโยบายที่จะส่งราชทูตไปเมืองจีนอีกครั้งหนึ่ง
ในทางกลับกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้มงวดกวดขัน ในเรื่องกวาดล้างการค้าฝิ่นเป็นอย่างมาก มีการปราบปรามครั้งใหญ่ โดยริบได้ฝิ่นในปริมาณมาก ฝิ่นดิบ ๓,๗๐๐ หาบเศษ ฝิ่นสุก ๒ หาบ รวมเป็นน้ำหนักฝิ่นถึง ๒๒๒,๑๒๐ กิโลกรัม คิดเป็นราคาขาย ในขณะนั้น ๑๘,๕๙๐,๐๐๐ บาท[2] (สิบแปดล้านห้าแสนเก้าหมื่นบาท) มากกว่างบประมาณแผ่นดินหลายเท่า โปรดให้รวมนำมาเผาทำลายที่สนามไชย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์
แสดงให้เห็นชัดเจนว่าชนชั้นนำสยามได้จับตามองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพี่ใหญ่อย่างจีนกับชาติตะวันตกอยู่ไม่วางตา และพยายามเดินหมากบนกระดานนโยบายการต่างประเทศอย่างระเอียดรอบคอบ ด้วยสังเกตเห็นชัดแล้วว่าลมตะวันตกที่พัดเข้าสู่กองสำเภาอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินมังกรในระลอกแรกนี้นั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของลมกระชากที่จะจ่อตัวเป็นพายุใหญ่ ที่อาจฉีกทึ้งขั้วอำนาจเดิมให้สูญสิ้น และก่อเกิดสุญญากาศให้ขั้วอำนาจใหม่แห่งแดนตะวันออกได้ผงาดขึ้นมา
แน่นอนว่า “หางพายุ” จากจะวันตกนี้ ก็จะอาจจะตีถล่มสร้างความเสียหายให้กรุงสยามได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว และไม่ช้าไม่นานไม่นานหลังจาก “สงครามฝิ่น” ที่เกิดขึ้นนี้ เหตุการณ์ในแผ่นดินบูรพประเทศทั้งมวลก็เริ่มเป็นไปตามที่ “สยาม” ได้ระแวงระวังไว้จริงๆ…
[1] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. การค้าเสรี: จากสงครามฝิ่นถึง FTA. เอกสารสัมมนาลุ่มน้ำโขง: วิกฤต การพัฒนา และทางออก หมายเลข 10 หน้า 3
[2] http://www.kingrama3.or.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=540025339