เที่ยวทิพย์ ย้อนยุคไปในกรุงเก่า
กับภาพถ่าย ๑๐๐ ปี พระนครศรีอยุธยา (2)
อยุธยาขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแม่น้ำคูคลอง สามารถสัญจรไปมาได้ด้วยเรืออย่างสะดวก วันนี้ทัวร์ของเราจึงขอเข้าบทบาทเป็นแม่หญิงการะเกดแห่งละครบุพเพสันนิวาส ล่องเรือเพื่อสำรวจพระนครศรีอยุธยากันสักหน่อย
แล้ว ณ จุดที่แม่น้ำเจ้าพระยามาพบกับแม่น้ำป่าสักเราก็มาถึง “วัดพนัญเชิง” หรือ “วัดพแนงเชิง” วัดที่มีประวัติว่าสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเสียอีก ซึ่งเมื่อพูดถึงวัดนี้ หลายคนคงคุ้นเคยกับตำนานท้องถิ่นแล้วเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งและนางสร้อยดอกหมากกันอย่างดี
สถานที่ที่ ๔ : วัดพนัญเชิง
ครั้นผ่านวัดพนัญเชิงมะเลิงลุด
ประนมหุดถ์บูโชมะโลฉา
ขอพระเจ้าพนัญเชิงมะเลิงจา
ให้สุฃาปาลากะเปเล
ผ่านกรุงศรีอยุธยามหาโส
ดูผู้คนแน่นโหนมะโหลเฉ
สมเปนโบราณราชธาเน
สุเขคึกคักกะมักกี
– นิราศร้างห่างเหจากเคโห –
แถลงเรื่อง เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ในมณฑลอยุธยาและนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๖๕
โดย ศรีอยุธยา
ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๗ ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี นับเป็นพระที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของชาวอยุธยามาอย่างช้านาน
วัดพนัญเชิงแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ เจ้าพ่อซำปอกงที่ชาวจีนเรียกขานกัน เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ
ครั้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพนัญเชิง หรือวัดพระเจ้าพนัญเชิง แทนคำแผลงว่าวัดผนังเชิง ดังปรากฏชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า
“…วัดพนัญเชิงอีกคำหนึ่งว่าวัดพระเจ้าพนัญเชิง ให้คงเรียกอยู่ตามเดิม อย่าอุตริเล่นลิ้นเรียกว่าผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองแต่ไหนๆ มา มาแปลงว่าผนังเชิงก็ไม่เห็นเพราะเจาะเป็นยศเป็นเกียรติอะไร
สำแดงแต่โง่ของผู้แปลง ไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่าพนัญเชิงด้วยเหตุไร ประการหนึ่งวัดนั้นก็เป็นวัดราษฎรไทยจีนเป็นอันมากเขานับถือว่าศักดิ์สิทธิ ก็ผู้เป็นเจ้าของวัดเดิมที่ตั้งชื่อนั้นไว้จะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไรไม่รู้ มาแปลงเรียกขึ้นใหม่ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็จะไม่สู้สบาย ไม่พอที่จะย้ายก็อย่ายกไปเลย ให้คงไว้ตามเดิมเถิด…”
Tips ภายในวัดพนัญเชิงแห่งนี้ ยังมีศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก หรือ ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย เป็นศาลศักดิสิทธิ์ที่ที่มีเรื่องราวมาจากความรักซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้คนส่วนใหญ่มักมากราบไหว้เพื่อขอพรเรื่องความรัก และการมีบุตร เมื่อสมความปรารถนาแล้วมักนำผ้าแพร ไข่มุก เรือสำเภาจำลองหรือเชิดสิงโตถวาย
พิกัด https://goo.gl/maps/qyMYLg4VPjaCCkFG9
ค่าเข้าชม ชาวไทยเข้าชมฟรี
เวลาให้เข้าชม ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
ข้อควรระวัง โปรดสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม
ขอบคุณข้อมูลการท่องเที่ยวทิพย์จาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, Amazing Thailand และ ห้องสมุดดิจิทัลสมุดวชิรญาณ
ขอบคุณข้อมูลการท่องเที่ยวทิพย์จาก Museum Thailand
สถานที่ที่ ๕ : พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน
Must Visit เมื่อมาอยุธยา หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงพระราชวังบางปะอิน สถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและสถาปัตยกรรมที่งดงามทรงคุณค่าเหนือกาลและเวลา ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาศตวรรษแล้ว แต่พระราชวังบางปะอินแห่งนี้ ยังคงงดงาม และพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่คนไทยรุ่นต่อรุ่น
ในอดีต พระราชวังบางปะอิน มิใช่เพิ่งปรากฎในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปรากฎมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อนเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เสียกรุงฯครั้งที่ ๒ ที่พระราชวังมีความเสียหายอย่างหนัก และทรุดโทรม
กาลเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงประสงค์ที่จะบูรณะพระราชวังแห่งนี้ และได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเกิด พระตำหนักต่าง ๆ เพื่อไว้ใช้สำหรับเป็นที่รับรองในโอกาสต่าง ๆ
หนึ่งในพระตำหนักที่มีความสำคัญใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการและใช้เป็นที่ประทับ มีสถาปัตยกรรมแบบคอรินเทียนออร์เดอร์ (Corinthian order) คือ “พระที่นั่งวโรภาษพิมาน” แห่งนี้
ครั้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้พระที่นั่งแห่งนี้ในการออกว่าราชการ และประกอบพิธีสำคัญ ตามความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗ หน้า ๓๑๙ ไว้ว่า
“…เจ้าพนักงานได้จัดการที่จะได้จรดกันบิดกันไกร หม่อมราชวงษ์ ในพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ แลหม่อมเจ้านิลวรรณ ที่พระที่นั่งวโรพาศพิษาน
ตั้งพระแท่น มณฑลประดิษฐานพระไชย์พเนาวโลห แลเครื่องสำหรับการจรดกันบิดกันไกร ที่น่าแท่นมณฑลตั้งพระแท่นทรงกราบ มีเครื่องนมัสการทองทิศ แลตั้งอาศนสงฆ์ข้างขวาพระแท่นมณฑลด้วย…”
ฟังเรื่องราวของพระราชวังบางปะอินแห่งนี้แล้ว ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาก ๆ เพราะสถานที่แห่งนี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าไว้อย่างมากมาย และอย่าพลาดสถานที่ต่อไปว่าจะเป็นสถานที่ไหนที่เราจะไปเที่ยวทิพย์ กันนะครับ
พิกัด https://goo.gl/maps/aDVECBfBv1udVS2Y6
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๓๐ บาท / เด็ก นักเรียน นักศึกษา ๒๐ บาท / นักท่องเที่ยวต่างชาติ ๑๐๐ บาท
เวลาให้เข้าชม เปิดให้บริการทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
ข้อควรระวัง โปรดสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม และต้องแต่งกายในชุดสุภาพ ขณะเข้าชมไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
ขอบคุณข้อมูลการท่องเที่ยวทิพย์จาก Museum Thailand
สถานที่ที่ ๖ : แม่น้ำป่าสัก
หลายท่านที่สนใจติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์อยุธยาในทริปเที่ยวทิพย์ของเรา คงได้เคยเห็นแผนที่ในหลายๆ ฉบับและรูปแบบการพิมพ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองไปครั้งใดก็คุ้นตากับสายน้ำที่ล้อมรอบและคูคลองที่เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงเมืองนี้เอาไว้ กลายเป็นเค้าลางให้เราได้จินตนาการถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นควบคู่ไปกับบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับต่างๆ
แม้เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาไปแล้ว แต่ก็โชคดีที่ความสนุกคึกคักเหล่านั้นได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังเช่นที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่าวิถีชีวิตริมน้ำของผู้คนที่เรานำมาให้ชมกันในวันนี้
ในพระราชนิพนธ์ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏความตอนหนึ่ง เล่าถึงบรรยากาศของพระราชวังบางปะอิน เกาะเมืองอยุธยา และสภาพวิถีชีวิตริมน้ำของอยุธยาว่า
“…วันอังคารเดือนสิบสองขึ้นสี่ค่ำเวลาเช้าสองโมงเศษ ไปบูชาเหมมณเฑียรเทวราชแล้วลงเรือโสภณ ฯ มาวัดบรมวงศ เล่นทุ่งหลังวัดซึ่งสมเด็จกรมพระทรงจัดไว้รับเหมือนเมื่อปีกลายนี้ แต่บัวปีนี้น้อยไปกว่าเมื่อปีกลาย เพราะแต่แรกน้ำน้อย ครั้นน้ำมากโดยเร็วบัวหนีน้ำไม่ใคร่ทัน ถ้ามาเล่นข้างแรมจะมีบัวมากทีเดียว แต่ถึงเดี๋ยวนี้ก็มีอยู่บ้างพอเล่น เลี้ยงกันจนเวลาบ่าย
กลับขึ้นมาพบสมเด็จกรมพระที่หน้าโบสถ์สักครู่หนึ่ง แลลงเรือออกจากวัดบรมวงศเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ มาตามลำแม่น้ำแควป่าสัก น้ำแควนี้แต่ก่อนนี้น้อย ราษฎรทำนาต้นปีไม่ได้โดยมาก ต่อปลายระดูที่น้ำมามาก จึงได้ลงมือทำ ต้นเข้ายังต่ำ ๆ สูงพ้นน้ำไม่มากนัก มาประมาณชั่วโมงหนึ่งถ้วนหรือเศษบ้างก็สักเล็กน้อย ถึงพลับพลาพระนครหลวง กรมการกรุงเก่าทำใหญ่หลังหนึ่งทำย่อมหลังหนึ่ง มีปรำที่สำหรับจอดเรือ แต่เราไม่ขึ้นอยู่บนพลับพลา
ใช้เรือโบตเหลืองจอดหน้าพลับพลาเหมือนเมื่อไปไทรโยค พอถึงพลับพลา ขึ้นจากเรือไปดูพระนครหลวงทีเดียว ที่พระนครหลวงตั้งอยู่ห่างแม่น้ำสัก ๕-๖ เส้น เขาทำทางไปขึ้นข้างทิศตวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเปนทางราษฎรขึ้นไปนมัสการ….”
จากพระราชนิพนธ์ข้างต้นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนไทยกับสายน้ำที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นทั้งเส้นทางสัญจรและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ปีใดน้ำน้อยก็พลอยกันเดือดร้อน ทำนาลำบาก สัญจรก็ลำบาก
สายน้ำที่ไม่เคยไหลหวนกลับ ก็เหมือนกับประวัติศาสตร์ในอดีต ที่เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ แต่เราทำให้มันถูกต้องและรักษามันไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษารากเหง้าของบรรพบุรุษในอดีต เสมือนกับภาพถ่ายโบราณที่ถูกนำมาตีพิมพ์บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ และเป็นปณิธานของสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ ที่ต้องการจะเผยแพร่รักษาประวัติศาสตร์ของสยามประเทศให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษา
สถานที่นี้คงเป็นสถานที่สุดท้ายที่เที่ยวทิพย์ จะพาทุกท่านได้ไปเที่ยวอย่างเสมือนจริงระหว่างอดีตกับปัจจุบันของพระนครศรีอยุธยา เมืองที่มีมนต์เสน่ห์และความเป็นมาอย่างยาวนาน การเที่ยวทิพย์ในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นพระนครศรีอยุธยาในอีกอรรถรสหนึ่ง ซึ่งสอดแทรกกับเรื่องราวจากหลักฐานชั้นต้นอย่าง ราชกิจจานุเบกษา ที่เติมเต็มเรื่องราวให้กับสถานที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
แสงพระอาทิตย์ที่รำไรอยู่ขอบฟ้า ตกกระทบกับผิวน้ำ กับลมโชยเอื่อย ๆ ทำให้การล่องเรือชมแม่น้ำป่าสักในวันนี้ ยิ่งน่าประทับใจ ว่าแล้วว่าทำไมคนสมัยก่อน ถึงชอบล่องเรือกัน
สำหรับภาพที่ได้นำมาร่วมเที่ยวทิพย์ในครั้งนี้ มีที่มาจากสมุดแสดงภาพพระนครศรีอยุธยาที่นายออน มหาดเล็ก ช่างภาพหลวงได้มอบไว้แก่พระยาประเสนชิตศรีพิไลย (ดัด บุนนาค) ร่วมกันกับภาพถ่ายและภาพพิมพ์ “อยุธยา” ในสายตาชาวตะวันตก ในกรรมสิทธิ์ของสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ ซึ่งสำนักพิมพ์ฯ ได้นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “กรุงเก่าเมื่อกาลก่อน ภาพถ่าย ๑๐๐ ปี พระนครศรีอยุธยา” หนังสือรางวัลชมเชย ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป ในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕
พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ด้วยภาพประกอบกว่า ๑๐๐ ภาพพร้อมคำอธิบาย ภายในเล่มมีทั้งภาพเหตุการณ์สำคัญ อาทิ พระราชพิธีรัชมงคล ภาพสถานที่สำคัญ อาทิ พระราชวังบางปะอิน ภูเขาทอง พระราชวังโบราณ ฯลฯ รวมถึงภาพสถานที่สำคัญใกล้เคียง อาทิ พระพุทธบาท สระบุรี อีกด้วย ซึ่งภาพทั้งหมด ล้วนสะท้อนวิถีชีวิต สภาพบ้านเมืองของเราในครั้งนั้นอันทรงคุณค่า นับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ที่บันทึกไว้ในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ ได้นำไปร่วมสมทบทุนการอนุรักษ์โบราณสถานอยุธยาอีกด้วยครับ
รายละเอียดเพิ่มเติมของหนังสือ : กรุงเก่าเมื่อกาลก่อน ภาพถ่าย ๑๐๐ ปี พระนครศรีอยุธยา