นักพรตเมืองตรัง สวดถวายชัยมงคลรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ และทรงดำเนินพระบรมราโชบายพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางรถไฟไปสู่หัวเมืองหลักทั่วพระราชอาณาเขต จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ เสด็จฯ เยือนหัวเมืองปักษ์ใต้ ครั้งแรกหลังจากเสวยราชย์ แม้ทางรถไฟสายใต้ยังไม่เชื่อมต่อกันสมบูรณ์ โดยในครั้งนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยจำนวนมาก ซึ่งในการสเด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต, นครศรีธรรมราช, สงขลา พัทลุง, ตรัง, ยะลา และจังหวัดนราธิวาส เมื่อเสด็จผ่านไปไหนแต่ละจังหวัด ก็จะทรงพบปะคณะราษฎร์ในแต่ละจังหวัดที่มาเข้าเฝ้าเพื่อถวายชัยมงคล โดยในเอกสาร จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ที่บันทึกโดย มหาเสวกโท พระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) ได้กล่าวถึงตอนเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงจังหวัดตรัง ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นนักพรตจีนที่มาร่วมเข้าเฝ้าในโอกาสครั้งนั้นด้วย
วันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๘
อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
โดยกำหนดเสด็จพระราชดำเนินประพาสถ้ำเขาปีนะ ในอำเภอห้วยยอด (ซึ่งเดิมเรียกว่าอำเภอเขาขาว) ระยะทางจากตำบลช่องถึงบ้านทับเที่ยงซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอบางรัก ๕๐๐ เส้น ตั้งแต่ตำบลทับเที่ยงไปจนสุดเขตอำเภอบางรัก เข้าเขตอำเภอห้วยยอด ถึงที่ว่าการอำเภอ ๗๐๐ เส้นและตั้งแต่ที่ว่าการอำเภอห้วยยอดตรงไปทางเขาปีนะถึงท่าประดู่ ลงลำน้ำตรังระยะทาง ๔๐๐ เส้น ข้ามลำน้ำเมืองตรังไปแล้วมีถนนไปถ้ำอีก ๕๐ เส้น รวมระยะทางตั้งแต่ตำบลช่องถึงเขาปีนะ ๑,๖๕๐ เส้น เวลาเช้าเกือบ ๔ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่ง มีรถพระที่นั่งรองและรถข้าราชบริพารตามเสด็จโดยขนัด รถมหาอำมาตย์โท พระยาสุรินทราชา สมุหเทศาภิบาล นั่งไปกับมหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี แทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และขุนตำรวจเอก พระยามหาเทพ เป็นรถนำกระบวน เสด็จพระราชดำเนินจากหน้าพระตำหนักโปร่งหฤทัยไปตามระยะทาง
ครั้นหนทางใกล้ทับเที่ยงเข้ามา เห็นหมู่บ้านมากขึ้น มีโรงเรียนไม้อย่างถาวรที่ตำบลละมอแห่งหนึ่ง และที่ตำบลนาโยงซึ่งเป็นโรงเรียนทำแล้วใหม่แห่งหนึ่ง ต่อไปผ่านพระตำหนักผ่อนกายซึ่งชั้นล่างเป็นตึก ชั้นบนเป็นฝากระดานทาสี และผ่านที่ว่าการอำเภอและโรงตำรวจภูธร แล้วเข้าแนวตลาด เป็นตลาดใหญ่ผู้คนมาก แลเห็นจีนเป็นพื้น ตั้งเครื่องบูชาและแต่งผ้าแดงห้อยธงช้างรับเสด็จ สุดมุมตลาดทับเที่ยงเป็นทาง ๔ แยก คือ ทางมาจากตลาด ๑ และตรงไปตำบลท่าจีนตกลำน้ำตรัง ๑ กับเลี้ยวซ้ายไปสถานีรถไฟและตรงไปเมืองตรัง (ตำบลกันตรัง) แยก ๑ แยกขวาเลี้ยวมาทางอำเภอห้วยยอด เมื่อเลี้ยวขวามาแล้วเห็นโรงพยาบาลมิชชันนารีอเมริกันจัดการและโรงสวด และมีถนนอ้อมหลังตลาดอีกสายหนึ่งไปหมู่สวนจันทน์เทศ
รถพระที่นั่งตรงไปอำเภอห้วยยอด ตอนแรกๆในแดนอำเภอบางรักผ่านมาตามสวนพริกไทย สวนมะพร้าว สวนยางพารา มีหมู่บ้านมาก รั้วบ้านทั้ง ๒ ข้างถนนเป็นต้นชา ตัดเป็นพุ่มแลดูสะอาดตา แล้วเข้าป่าละเมาะ บางแห่งเป็นนา เห้นทางรถไฟอยู่ใกล้ๆทางซ้ายมือ แล้วข้ามทางรถไฟไปข้ามสะพานลำภูรา เป็นสะพานไม้ทำอย่างแข็งแรง กว้าง ๑๐ ศอก ยาว ๑๘ วา ๑ ศอก แลข้างขวามือเห็นสะพานเหล็กรถไฟอยู่ใกล้ๆ ที่คลองลำภูรานี้เป็นเขตอำเภอบางรักกับอำเภอห้วยยอดต่อกัน
พ้นสะพานลงมาถึงที่ “นักพรตจีนมาตั้งโรงกงสี” ทำสวนมะพร้าว ได้ถางป่าลงราบโล่ง ปลูกมะพร้าวลงไว้แล้วเป็นอันมาก แลเห็นต้นสูงประมาณศอก ๑ บ้าง ๒ ศอกบ้าง ในที่ว่างระหว่างต้นมะพร้าวปลูกสับปะรด สำหรับได้ผลทันใจบางแห่งด้วย ที่ตรงนี้นักพรตจีนเจ้าของไร่ได้ปลูกปะรำใหญ่และตั้งเครื่องบูชา พานักพรตพวกพ้องมาหลายตน คอยสวดถวายชัยมงคล พวกจีนทำสวนมายืนอยู่เป็นกลุ่มถวายคำนับ และจุดประทัดรับเสด็จ
สมุหเทศาภิบาลกล่าวว่า “นักพรตจีนเจ้าของสวนมะพร้าวนี้มาจากเมืองปีนัง ๒ ตน ได้เงินทุนของวัดเมืองจีนมาลงทุนทำสวน เพราะที่เมืองจีนเมื่อครั้งจลาจลเก็กเหม็ง พวกเก็กเหม็งริบสมบัติของวัดเสียโดยมาก นักพรตจึงถ่ายทุนมาลงที่เมืองอื่น และผู้จับจองที่รับรองกับเทศาภิบาลว่าเมื่อทำสวนได้ผลประโยชน์ดีแล้ว จะแบ่งกำไรทำโรงเรียนถาวรอุดหนุนบ้านเมืองด้วย” นักพรตจีนเจ้าของสวนได้ข่าวเสด็จพระราชดำเนิน มีความยินดีชักชวนนักพรตจีนที่เมืองปีนังอีกหลายตนมาคอยรับเสด็จถวายชัยมงคล ประมาณดูนักพรตจีนในประรำที่สวดถวายชัยประมาณ ๑๑ – ๑๒ ตน รถพระที่นั่งผ่านไป กำลังฝนตก
แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่าจังหวัดตรัง มีอารามนักพรตในลัทธิเต๋า หรือ โรงกงสีของนักพรตจีนอยู่หรือไม่ แต่จากจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ก็ทำให้เราได้ทราบว่าครั้งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้นั้นมีกลุ่มชาวจีนจำนวนหนึ่งที่นับถือลัทธิเต๋าได้มาตั้งกิจการ และมีโครงการตั้งโรงเรียนเพื่ออุดหนุนการศึกษาแก่ลูกหลานคนในพื้นที่ด้วย