ข้าราชการผู้ได้รับเสียงส่วนใหญ่จากราษฎร์ให้เป็น
กำนัน–ผู้ใหญ่บ้าน คนแรกของไทย
มหาอำมาตย์ตรี พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นบุตรหลวงวิเศษสุวรรณกิจ (ชื่น)
เมื่อวัยเยาว์เริ่มศึกษาเล่าเรียนกับญาติๆ แล้วศึกษาต่อในโรงเรียนกรมทหารมหาดเล็ก จนสำเร็จการศึกษาและถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในเวรฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นทหารมหาดเล็กสังกัดกรมทหารม้าที่ ๒ มีหน้าที่ทำการบาญชี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นนายเวรพัสดุ กรมศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นเจ้ากรมรักษาพระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นนายอำเภออุไทยน้อย (ปัจจุบัน คือ อำเภอวังน้อย) อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นผู้รั้งผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ และออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญด้วยเหตุเจ็บป่วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒
ยศและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ เป็นจ่านายสิบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นขุนวรกิจพิศาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นหลวงราชภพน์บริหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นพระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นพระยาอมรินทรฦๅไชย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นมหาอำมาตย์ตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และเป็นพระยารัตนกุล อดุลยภักดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒
เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค นอกจากจะทรงรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ยังทรงให้ความสำคัญกับการปกครองระดับตำบลและหมู่บ้าน เพราะเป็นการปกครองที่ใกล้ชิดกับราษฎรมากที่สุด จึงมีพระดำริจัดระเบียบท้องที่ ตั้งเป็นตำบลหมู่บ้าน และให้ราษฎรตำบลหมู่บ้านนั้นๆ เลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ด้านการทะเบียน การปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้าย และระงับข้อพิพาทเล็กๆ น้อยๆ ของลูกบ้าน ตามอย่างการเลือกหัวหน้าหมู่บ้านหรือ “ตักยี” ในประเทศพม่า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมอังกฤษ โดยทรงเลือกบ้านเกาะ (ปัจจุบัน คือ ตำบลบ้านเลน) บางปะอิน กรุงเก่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นท้องที่ทดลองตั้งตำบลหมู่บ้านและเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านตามพระดำริเป็นครั้งแรก
พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ตั้งแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ได้รับคำสั่งให้เดินทางขึ้นมาที่บางปะอินเพื่อสังเกตุการณ์และจัดระเบียบการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยให้หัวหน้าครอบครัวประมาณ ๑๐ ครัว ที่ตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงกัน เลือกใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน จากนั้น กำหนดจำนวนหมู่บ้านตามลักษณะธรรมชาติของท้องถิ่นรวมเข้าเป็นตำบล แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับเลือกจากหมู่บ้านต่างๆ เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นกำนัน
“…ในขั้นต้นทำบัญชีสำมะโนครัวบ้านที่จะจัดเป็นหมู่บ้านและตำบลก่อน เสร็จแล้วจึงลงมือจัดการตั้งผู้ใหญ่บ้านกำนันต่อไป คือ ไปจัดรวมครัวที่เป็นเจ้าของบ้านใกล้ชิดติดต่อกันราว ๑๐ เจ้าของ เจ้าของหนึ่งจะมีเรือนกี่หลังก็ตาม รวมเข้าเป็นหมู่บ้าน แล้วเชิญเจ้าของบ้านมาประชุมกันในวัด พร้อมด้วยราษฎรอื่นๆ เมื่อถามทราบว่าใครผู้ใดเป็นเจ้าบ้านแล้วก็ให้มาร่วมกันขอให้เลือกกันในหมู่ของเขาที่มาประชุมว่าควรจะให้ใครเป็นผู้ใหญ่ สังเกจดูเขาตรึกตรองกันมาก ซุบซิบปรึกษาหารือกันเห็นจะเป็นด้วยเรื่องเกรงใจกัน แต่ในที่สุดก็ได้ความเห็นโดยมากว่าใครในพวกของเขาที่มาประชุมนั้น ควรจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็เขียนใบตั้งชั่วคราวให้เขาถือไว้ จนกว่าจะได้มีหมายตั้งออกให้ใหม่ตามทางราชการ
เมื่อได้จัดตั้งผู้ใหญ่บ้านได้พอสมควรที่จะจัดตั้งเป็นตำบลไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ไปประชุมที่ศาลาวัดพร้อมด้วยราษฎรในท้องที่นั้น เชิญผู้ใหญ่บ้านในตำบลที่ข้าพระพุทธเจ้าให้เลือกตั้งไว้แล้วมาประชุมพร้อมกัน แล้วขอให้ผู้ใหญ่บ้านเหล่านั้นเลือกผู้ใหญ่คนหนึ่งในหมู่ของเขาว่าใครควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าว่าการตำบล เมื่อเขาพร้อมกันเห็นควรผู้ใดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ออกหมายตั้งชั่วคราวให้เขาเป็นกำนันตำบลนั้น แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็ทำอย่างเดียวกันต่อๆ ไปทุกตำบล
ตำบลใดที่ข้าพระพุทธเจ้าไปจัดตั้งกำนันในวันแรกในวัดใด ข้าพระพุทธเจ้าอาราธนาพระภิกษุในวัดนั้นมาประชุมอยู่ด้วย พอใครได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็นิมนต์ให้สวดชยันโตให้พร…”
เนื่องจากการเลือกผู้ใหญ่บ้านหมู่แรกจัดขึ้นที่บ้านเกาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังบางปะอิน และพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ตั้งแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชภพน์บริหาร เจ้ากรมรักษาพระราชวังบางปะอิน ก็มีบ้านพักอาศัยในหมู่นั้น หัวหน้าครอบครัวที่ตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงจึงเลือกหลวงราชภพน์บริหาร (จำรัส รัตนกุล) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ครั้นเมื่อประชุมเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งหลายก็เลือกให้เป็นกำนันอีก หลวงราชภพน์บริหาร (จำรัส รัตนกุล) จึงกลายเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยตรง
แม้พออนุมานได้ว่า สาเหตุที่หลวงราชภพน์บริหาร (จำรัส รัตนกุล) ได้รับเลือกเป็นกำนันกับผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นข้าราชการที่มีอำนาจบารมีในท้องที่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลวงราชภพน์บริหาร (จำรัส รัตนกุล) ก็เป็นผู้ที่ราษฎรให้ความเคารพนับถือไว้วางใจ และมีนิสัยเหมาะสมกับการปกครอง ซึ่งนิสัยนั้นยังติดเนื่องต่อมาจนถึงสมัยเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศและตำแหน่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จขึ้นไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๔๗ ความว่า
“…พอเข้าเขตรมณฑลนครสวรรค์ ข้าพเจ้าไต่ถามพวกพ่อค้าราษฎรที่พบปะในระยะทางว่า เทศาคนใหม่เปนอย่างไรบ้าง พากันบอกว่ายังไม่รู้จัก แต่ได้ยินว่าท่านใจดี ดังนี้โดยมาก ครั้นใกล้จะถึงเมืองนครสวรรค์พบผู้ที่ได้รู้จักพระยารัตนกุลฯ พากันบอกว่าท่านใจดีไม่ถือตัว ใครมีทุกข์ร้อนจะไปมาหาสู่เมื่อไรก็ได้ดังนี้ เมื่อไปถึงที่จวนเทศา ข้าพเจ้าเห็นฆ้องแขวนอยู่ที่ประตูรั้วใบ ๑ มีหนังสือเขียนป้ายปิดไว้ว่า “ถ้าใครมีทุกข์ร้อน อยากจะพบข้าหลวงเทศาภิบาลเมื่อใดก็ได้ ถ้าเปนเวลาค่ำคืนปิดประตูบ้าน แล้วให้ตีฆ้องใบนี้ขึ้นเปนสำคัญ” ข้าพเจ้าเห็นก็เข้าใจว่า พระยารัตนกุลฯ ได้ความคิดมาแต่อ่านศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้ความว่ากลางคืนมีคนมาตีฆ้องบ่อยๆ อยู่ฤๅ บอกว่าเปล่า ตั้งแต่แขวนฆ้องแล้ว ยังไม่มีใครมาตีเลยสักคนเดียว ถึงกลางวันก็มิใคร่มีใครไปรบกวนมากมายเท่าใด นึกดูก็ปลาด เพียงแต่ทำให้เกิดอุ่นใจว่าจะหาผู้ใหญ่เมื่อใดหาได้เท่านี้ก็มีผล…”
ไม่ปรากฏหลักฐานว่า หลวงราชภพน์บริหาร (จำรัส รัตนกุล) ปฏิบัติหน้าที่กำนันและผู้ใหญ่บ้านได้ดีเพียงใด แต่เชื่อว่าคงปฏิบัติงานเรียบร้อยดี ในเวลาต่อมาจึงได้ย้ายไปรับราชการทางฝ่ายปกครอง จนเจริญก้าวหน้าตามลำดับ ดังปรากฎประวัติที่แสดงไว้ข้างต้นแล้ว
ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้วันที่ ๑๐ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรก ให้เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีการมอบรางวัลแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี และยังให้เกียรติพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ว่าเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรกด้วย