สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
กรมศิลปากรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ในวันจันทร์ที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๙.๐๐ น.
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงการจัดสร้างอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติครั้งนี้ ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้ในหลายโอกาสเกี่ยวกับการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีพื้นที่เพียงพอต่อปริมาณโบราณวัตถุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีจากการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดี จัดวางอย่างเป็นระบบ และจัดให้เป็นสถานที่ศึกษาโบราณวัตถุ หรือ Study Collection สำหรับนักศึกษา นักวิจัยได้
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ กรมศิลปากรจึงได้ย้ายโบราณวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเดิมใช้พื้นที่อาคารจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาจัดเก็บ ณ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จังหวัดปทุมธานี โดยจัดวางตามหมวดหมู่ประเภทวัสดุตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ออกแบบห้องคลังต่างๆ ให้เป็นคลังเปิด หรือ Visible Storage ที่เปิดให้ผู้เข้าเยี่ยมชมมองเห็นได้จากภายนอกผ่านผนังกระจก
ต่อมา พ.ศ.๒๕๕๙ กรมศิลปากรจึงเริ่มสร้างอาคารคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยเฉพาะ ในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก โดยคำนึงถึงการควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาโบราณวัตถุอย่างยั่งยืนและปลอดภัย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอย ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร ความสูง ๔ ชั้น รูปทรงอาคารเป็นทรงไทยประยุกต์ นำเส้นสายฐานบัวในงานสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใช้เป็นกรอบด้านนอกของอาคาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ไทย
ด้วยวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการระบายอากาศที่ดี สามารถนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคาร และเหมาะสมกับสถานที่ตั้งที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในอาคารเลือกใช้วัสดุประเภทเหล็ก คอนกรีต อลูมิเนียมและกระจกเป็นหลัก ไม่ใช้วัสดุประเภทไม้เพื่อลดโอกาสที่จะมีแมลงเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งอาจทำลายโบราณวัตถุที่จัดเก็บอยู่ภายใน
ภายในอาคารคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งชาติ ปัจจุบันจัดเก็บโบราณวัตถุแล้ว รวมจำนวน ๑๑๓,๘๔๙ รายการ จัดวางตามประเภทวัสดุในห้องคลังต่างๆ จำนวน ๑๐ ห้อง ได้แก่ ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้น ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทโลหะ ๓ ห้อง ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาและแก้ว ๒ ห้อง ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทไม้ ๒ ห้อง และห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหนังสัตว์ ผ้า กระดาษ กระดูก งา เขาสัตว์ ๒ ห้อง
อธิบดีพนมบุตร จันทรโชติ กล่าวในช่วงท้ายว่า หลังพิธีเปิดในวันนี้ กรมศิลปากรจะเปิดให้บริการแก่นักศึกษา นักวิจัย และประชาชน เข้าศึกษาโบราณวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ศกนี้ ซึ่งตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี ๒๕๖๖ โดยให้บริการใน ๒ รูปแบบ คือการเข้าศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่บริการทั่วไป ได้แก่ ห้องสมุด ห้องสอบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ และใช้บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุ การบริการอีกรูปแบบหนึ่งคือ การศึกษาชิ้นงานโบราณวัตถุ ซึ่งต้องยื่นคำร้องขออนุญาต เมื่อได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกนำเข้าศึกษาโบราณวัตถุในพื้นที่ควบคุมชั้นใน
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้ออกแบบช่องทางเข้าชมบรรยากาศห้องคลังโบราณวัตถุ และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในมุมมอง 360 องศา ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Virtual Smart Museum และ FADdiscovery
ทั้งนี้สามารถเข้าดูรายละเอียดการให้บริการเพิ่มเติมได้ทางเพจ www.facebook.com/nationalmuseumstorage และติดต่อสอบถามทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ registraonm@gmail.com