การซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี และเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พลเรือตรี ฉัตรชัย ศุกระศร เสนาธิการกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ผู้แทนเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ พลเรือตรี สมบัติ จูถนอม เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ พลเรือตรี ไพฑูรย์ ปัญญสิน ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ให้การต้อนรับ
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิ พุทธศักราช 2567 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ การอนุรักษ์ ซ่อมแซมเรือพระราชพิธี และอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบ จำนวน 52 ลำ โดยกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการอนุรักษ์เรือพระราชพิธี ซึ่งมีสถานะเป็นโบราณวัตถุ และการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธี ด้วยการลงรัก ปิดทองประดับกระจกตามแบบศิลปะไทยโบราณ รวมทั้งการซ่อมแซม และจัดสร้างอาภรณ์ภัณฑ์เครื่องประกอบเรือพระราชพิธี โดยได้รับจัดสรรงบกลางจากรัฐบาล เพื่ออนุรักษ์และตกแต่งเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ เป็นเงินทั้งสิ้น 47,301,800 บาท ซึ่งกรมศิลปากรยึดหลักการในการอนุรักษ์เรือพระราชพิธี ให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน คงความเป็นของแท้ดั้งเดิม งดงามตามแบบฝีมือช่างไทยโบราณ สมพระเกียรติ และยังเป็นการสืบสานประเพณีการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวในโลก ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจดังกล่าว จึงทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อให้การปฏิบัติงานดังกล่าวลุล่วงด้วยความสมบูรณ์พร้อม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันหาที่สุดมิได้
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เดินทางมาตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้กล่าวว่าพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นพระราชพิธีสำคัญ ที่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติต่างรอคอยที่จะเฝ้าชม ถือเป็นความภาคภูมิใจของพสกนิกรชาวไทย และความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น จนเป็นที่กล่าวขาไปทั่วโลก จึงควรเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับผู้ที่จะเข้าชมความงามของเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ภายหลังพระราชพิธีฯ ด้วย ซึ่งเรือพระราชพิธีที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี จำนวน 8 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือรูปสัตว์ 4 ลำ ได้แก่ เรือเอกไชยเหิรหาว เรืออสุรวายุภักษ์ เรือครุฑเหิรเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือพระราชพิธีแห่งเดียวของโลก จึงได้รับนโยบายดังกล่าว และมอบให้กรมศิลปากรจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเรื่องเรือพระราชพิธี และการจัดกระบวนเรือ ในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ของกรมศิลปากร และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้งการนำเอาความสำเร็จของการจัดกิจกรรมชมพิพิธภัณฑ์ยามราตรี (Night Museum) มาประยุกต์ใช้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี โดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงเรือพระราชพิธี ทั้ง 8 ลำ ในเดือนตุลาคม 2567 ด้วยการติดตั้งไฟจัดแสดงเพิ่มเติม เพื่อเน้นความงามของเรือพระราชพิธี ให้สอดรับกับบรรยากาศยามค่ำคืนริมคลองบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดแสดง แสง สี สำหรับการจัดแสดง และการจัดบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ออกแบบเป็นพิเศษ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้นักท่องเที่ยว และเป็นการสนับสนุนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและเดินทางเข้าชมทางเรือ คาดว่าการปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ครั้งนี้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งจะเพิ่มเวลาเข้าชมจาก 16.00 น. เป็น 20.00 น. โดยจะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรี ต่อไป