ขุนนางสยาม
พระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน)
ครูใหญ่แห่งโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์
ครูใหญ่แห่งโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์
ผู้อบรมสั่งสอนตั้งแต่บุตรคนธรรมดาสามัญไปจนถึงเชื้อพระวงศ์
อำมาตย์เอก พระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรของนายสมบุญ กับนางปุ่น
ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากพระมหาแย้ม วัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งเป็นน้า แล้วเข้าศึกษาต่อโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนฝึกหัดครูสายสวลีสัณฐาคาร (โรงเลี้ยงเด็ก) สำเร็จการศึกษาแล้ว เข้ารับราชการเป็นครูผู้ช่วยโรงเรียนวัดจักรวรรดิ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นนายตรวจแขวงการศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓
พระยาจรัลชวนะเพทเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อทางราชการรวมโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์เข้ากับโรงเรียนสวนสุนันทาลัย (โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แผนกภาษาอังกฤษ) เป็นโรงเรียนเดียวกัน จึงดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ และออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
ยศและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ เป็นขุนจรัลชวนะเพท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นหลวงจรัลชวนะเพท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นอำมาตย์ตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นพระจรัลชวนะเพท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นอำมาตย์โท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นอำมาตย์เอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ และเป็นพระยาจรัลชวนะเพท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำคัญที่ได้รับพระราชทาน คือ ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๔ (ว.ป.ร. ๔)
ภาพดังกล่าว “เพจบันทึกเทพศิรินทร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุ น
จากสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิริ นทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดซื้อภาพนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์
เพื่อการศึกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์ เพื่อเติมเต็มประวัติศาสตร์ ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ให้สมบู รณ์”
จากสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิริ
ตลอดชีวิตรับราชการกว่า ๓๕ ปี ของพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เกือบทั้งหมดคือการเป็นครูใหญ่และอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ที่รวมแล้วนานถึง ๒๙ ปี เป็นเวลานานพอจะอบรมสั่งสอน “ลูกแม่รำเพย” ให้สำเร็จการศึกษาออกไปนับพันๆ คน หลายคนออกรับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระน้ำพระยา หลายคนเป็นพ่อค้าวานิชชื่อดัง ซึ่งศิษย์เก่าเหล่านี้ย่อมคุ้นตากับภาพพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) ถือไม้ตะพดขนาดเขื่อง สวมหมวกกะโล่สีขาว นุ่งผ้าพื้นสีน้ำเงินแก่ เดินท่องในสนามหญ้าของโรงเรียนช่วงพักกลางวัน เพื่อสนทนาปราศรัยถามทุกข์สุขนักเรียนที่วิ่งเล่นหรือนั่งพักผ่อนตามใต้ต้นมะฮอกกานีและต้นมะขามริมสนาม บางครั้ง อาจเห็นพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เดินสำรวจบริเวณโรงพลศึกษาหรือห้องน้ำเพื่อดักจับเด็กที่แอบสูบบุหรี่ ถ้าหากพบก็คอยตักเตือนว่ากล่าว และหากพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) ขึ้นแสดงโอวาทบนเวทีห้องโถงใหญ่เมื่อใด นักเรียนก็มักถอนหายใจไปตามกัน เพราะรู้ตัวว่าต้องฟัง “เทศน์” อีกนานนับชั่วโมง
หลวงเลขาวิจารณ์ (ศรีศุกร์ บุรณศิริ) ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์จากยุคปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยมีประสบการณ์ถูกอบรมสั่งสอนจากพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เหมือนกับนักเรียนคนอื่นๆ ดังบันทึกไว้ว่า
“…ถ้านักเรียนผู้ใดแต่งตัวฉูดฉาดท่านไม่ชอบ ในสมัยนั้นนิยมใส่เสื้อนอกลายกัน ท่านก็ไม่ห้าม แต่ถ้าผู้ใดใส่ท่านก็ตรงเข้ามาถาม แหม สวยจริง ราคาตัวละเท่าไร เงินที่ตัดนี้ต้องขอพ่อแม่มาใช่ไหม พ่อแม่ท่านเลี้ยงเรามา ให้อาหารการกิน ให้เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนให้การศึกษา ก็เป็นบุญคุณอันใหญ่หลวงอยู่แล้ว ไม่ควรจะรบกวนท่านโดยไม่จำเป็น
ครั้งหนึ่งฉันยังจำได้ดี ตอนเช้าฉันขึ้นรถรางไปโรงเรียน วันนั้นนึกเกิดสนุกขึ้นมาอย่างใดไม่ทราบ ขึ้นนั่งชั้น ๑ พอรถเลยหัวลำโพงมาหน่อยหนึ่ง เหลียวหลังไปเห็นท่านอาจารย์นั่งอยู่ชั้น ๒ รู้สึกตะครั่นตะครอนั่งอยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้อากาศตอนเช้าจะเย็นสบายแต่ฉันก็ร้อนจนเหงื่อชุ่มตัว
ในที่สุดก็ต้องย้ายมานั่งชั้น ๒ กับท่าน พอเวลาเข้าประชุมท่านก็เริ่มสั่งสอนว่าการนั่งรถรางสำหรับเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องนั่งชั้น ๑ ให้เสียเงินแพง นั่งชั้น ๒ ก็ถึงเหมือนกัน เป็นการทำลายเงินพ่อแม่โดยไม่ได้ประโยชน์ นอกจากนั้น ยังลงในรายงานสมุดพกประจำตัวในช่องอุปนิสัยอีกด้วยว่า สุรุ่ยสุร่าย นั่งรถรางชั้น ๑ โดยชั้น ๒ ก็ยังมีที่ว่างพอ…”
แม้ดูเหมือนพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เป็นครูที่จู้จี้จุกจิกนักเรียนเกินไป แต่เมื่อนักเรียนเหล่านั้นเติบใหญ่ ย่อมระลึกได้ว่าการอบรมสั่งสอนของพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เป็นไปเพราะความห่วงใจและหวังดีต่อนักเรียนทุกคนนั่นเอง
ความสามารถในการอบรมสั่งสอนนักเรียนนับตั้งแต่บุตรหลานคนธรรมดาสามัญไปจนถึงลูกผู้ดีมีสกุลของพระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่คนหมู่มาก ถึงสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็ยังทรงเรียกตัวให้ไปรับหน้าที่พระอาจารย์พิเศษถวายพระอักษรพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระโอรสธิดาของพระองค์ โดยประทานเงินค่าสอนและบ้านพักอาศัยในวังบูรพาภิรมย์เป็นสิ่งตอบแทน
จากนั้น ต่อมาอีกหลายสิบปี พระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) ก็ยังได้เป็นพระอาจารย์พิเศษถวายพระอักษรพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ศิษย์เดิมที่เคยถวายพระอักษรมาแต่ก่อนด้วย
พระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) ลาออกจากราชการเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ ณ บ้านพักในตำบลบ้านกล้วย คลองเตย จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
อำมาตย์เอก พระยาจรัลชวนะเพท (ชุ่ม กสิกผลิน) ถึงแก่กรรมด้วยโรคไตพิการและเนื้องอก เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ รวมอายุ ๖๔ ปี และพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖