เที่ยวทิพย์ ย้อนยุคไปในกรุงเก่า
กับภาพถ่าย ๑๐๐ ปี พระนครศรีอยุธยา (1)
อยุธยา คือความภาคภูมิใจของชาวไทยทั้งผอง คุณค่าและความงดงามจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามในช่วงที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในหมู่ประเทศแทบเอเชียอาคเนย์เมื่อหลายร้อยกว่าปีล่วงมาแล้ว แม้ปัจจุบันโบราณสถาณส่วนใหญ่ในอยุธยาจะได้รับการบูรณะปรับปรุงและดูแลรักษาเป็นอย่างดีเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยก็ตาม แต่การกำหนดมาตรฐานในการอนุรักษ์โบราณสถาณอย่างยั่งยืน การฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมและศิลปะพื้นบ้าน เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์กันอย่างจริงจังและต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาความสะอาดสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของอัครสถานโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์ปกป้องมรดกของชาติให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวไทยสืบไปชั่วกาลนาน อยุธยา
สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกที่สามที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ ที่ทำให้หลายๆ ท่านต้อง Work From Home และ Stay Home – Stay Safe กันอีกครั้ง คงทำให้รู้สึกอยากออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากยิ่งกว่าครั้งไหน พวกเราเข้าใจความรู้สึกของทุกท่านเป็นอย่างดี ! ดังนั้นแล้ว ทัวร์ สำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ ขอภูมิใจนำเสนอ…
“เที่ยวทิพย์ ย้อนยุคไปในกรุงเก่า”
กับภาพถ่าย ๑๐๐ ปี พระนครศรีอยุธยา
ขอเชิญทุกท่านร่วมเดินทางเที่ยวทิพย์ไปกับเรา ที่ไม่ใช่แค่การออกไปข้างนอกแต่เราจะออกเดินทางย้อนอดีตกันด้วย ! กับ “ภาพถ่ายเก่าของกรุงเก่า” ที่สำนักพิมพ์ของได้คัดเลือกมาให้ชมควบคู่กันกับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์สนุกๆ ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกท่านได้แผนการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในมุมมองใหม่ๆ ก็เป็นได้
คำเตือน : อย่าลืม Share ให้เพื่อนๆ ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้นะครับ !
สถานที่ที่ ๑ : วิหารพระมงคลบพิตร
“…พระองค์ทรงเวทเวทางค์ สารศาสตร์คุณางค์
คุโณตโมรสธรรม
ทรงโหราพยากรุณา รู้เวทศิวำ
ศิวายศิวาอาคม
เป็นพำนักนิตย์แก่ศรมณ์ ด้วยเดชบรม
บพิตรโปรดปรานี
เสร็จสร้างวรคันธกุฎี ชินรูปรังสี
สุพรรณพรายฉายฉาน…”
– คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง –
กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๕๓
“เที่ยวทิพย์” ของเราในวันนี้ เริ่มต้นสถานที่แรกด้วย “วิหารพระมงคลบพิตร” พระวิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ถัดไปด้านทิศใต้ของพระราชวังโบราณ อยุธยา เป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่หลายคนมักจะแวะกราบไหว้สักการะก่อนซื้อบัตรเข้าชมโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือไม่ก็ขอพรก่อนเดินทางกลับบ้านพร้อมพุทราเชื่อม โรตีสายไหม ของขึ้นชื่อเมืองอยุธยาจากตลาดนัดข้างพระวิหาร
แต่นอกเหนือจากสถานะพระพุทธรูปสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยาองค์หนึ่ง ซึ่งได้ผ่านร้อนผ่านหนาว สถาปนา บูรณะ รุ่งเรือง ร่วงโรยเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา และได้ปฏิสังขรณ์ให้ดีดังเดิมในกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว สิ่งที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบก็คือ ได้มีข้อเสนอทางวิชาการว่า “พระมงคลบพิตร” นั้นเป็นเสมือนตัวแทนพระสุมังคลพุทธเจ้า อนาคตพุทธ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงใช้เป็นหนึ่งในเหตุผล เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา สถาปนาพระราชวงศ์ใหม่ของพระองค์ ว่าพระองค์นั้น ในอดีตชาติคือช้างปาลิไลยก์ ผู้ปัจจุบันชาติคือพระองค์ในสถานะพระโพธิสัตว์ที่กำลังสั่งสมบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายภาคหน้า ดังปรากฏในหนังสือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง : รัฐประหาร ความชอบธรรม พิธีกรรม ศิลปะ” โดย รองศาสตราจารย์พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความตอนหนึ่งว่า
“…พระมณฑปประดิษฐานพระมงคลบพิตรที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้าง ยังน่าจะตรงกับ “วรคันธกุฎี” ที่ทรงสร้างประดิษฐานพระพุทธรูปในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ (๒๕๔๓, ๘๖) ว่า “เสร็จสร้างวรคันธกุฎี ชินรูปรังสี สุพรรณพรายฉายฉาน” คันธกุฎี คือ ที่อยู่อันทำจากไม้หอมหรือประดับประดาจากไม้หอม มักหมายถึงพระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าในพระอารามสมัยพุทธกาล แต่จะมีรูปร่างอย่างไรไม่ปรากฏ
พุทธศาสนิกชนในสมัยต่อมานิยมสร้างเป็นเรือนยอดอย่างมณฑปหรือปราสาทประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วน “ชินรูปรังสี สุพรรณพรายฉายฉาน” ที่กล่าวถึงในคำฉันท์อันหมายถึง รูปของพระผู้ชนะมารซึ่งมีพระรัศมีส่องประกายดุจทองคำ ก็ตรงกับคำพรรณนาพระสุมังคลพุทธเจ้าในคัมภีร์พระอนาคตวงศ์ ว่าทรงมี “พระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่าง ดังสีทองเปนอันงามประดุจกลางวันแล้ว” (พระอนาคตวงค์ ๒๕๔๒, ๖๗) หรือ “แสงสว่างของพระพุทธเจ้าในเวลากลางวันเป็นเช่นกับแสงทอง” (พระคัมภีร์พระอนาคตวงค์ ๒๕๔๐, ๑๓๒)
ทั้งพระนามของ “พระสุมังคลพุทธเจ้า” ก็ยังสอดคล้องกับนามของวัดพระมงคลบพิตรที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (๒๕๕๕, ๔๐) ตรงกันว่า “วัดสุมงคลบพิตร” อันน่าจะมุ่งให้หมายถึงพระอารามของพระสุมังคลพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชิญพระมงคลบพิตรมาเพื่อสร้างความหมายใหม่ ให้เป็นตัวแทนพระสุมังคลพุทธเจ้า ในฐานที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระอนาคตพุทธเจ้าพระองค์นั้นในอนาคตกาล…”
ดังนั้นแล้วไปเยือนวิหารพระมงคลบพิตรในครั้งหน้า อย่าลืมอธิษฐานขอพรให้ได้สดับรับฟังพระธรรมจากโอษฐ์ของพระอนาคตพุทธเจ้ากันด้วยนะครับ ขออานิสงส์ผลบุญเกื้อหนุนให้ทุกท่านมีความสุข ประสบความสำเร็จในการงานที่ชอบโดยสุจริตทุกประการ .
สำหรับภาพที่นำมาให้ชมกันนี้เป็นภาพปัจจุบันซ้อนทับกับภาพอดีตของวิหารพระมงคลบพิตรหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ซึ่งยังไม่ได้บูรณะครับ
พิกัด https://goo.gl/maps/q9q5ydp2pJAMrkseA
ค่าเข้าชม ฟรี
เวลาให้เข้าชม วันธรรมดาเปิดตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.
ข้อควรระวัง โปรดสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม
ขอบคุณข้อมูลการท่องเที่ยวทิพย์จาก ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.
สถานที่ที่ ๒ : พระมงคลบพิตร
เที่ยวทิพย์ของเรา ยังอยู่กันที่ “วิหารพระมงคลบพิตร” ซึ่งสำหรับคนรุ่นหลังที่เคยได้ไปเยือนก็คงจะคุ้นชินกับภาพพระมงคลบพิตรปิดทองอร่ามสุกสกาวเป็นสง่า ให้ความอิ่มเอมใจเมื่อได้ชมเป็นอย่างนี้ แต่สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป ก็อาจจะคุ้นกับภาพพระมงคลบพิตรลงรักดำอยู่ช้านาน โดยที่ไม่ได้ปิดทองให้งามสง่าอย่างในวันนี้
โดยที่น้อยคนนักจะรู้ว่า การที่พระมงคลบพิตรได้รับการบูรณะปิดทองให้งดงามดังสมัยกรุงเก่านั้น เป็นไปด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อโบราณสถานของไทย ดังความตอนหนึ่งในบทความ “พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กับโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยา” โดย นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร ผู้ซึ่งได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ตลอดจนนำชมโบราณสถานบริเวณเกาะเมืองอยุธยา และเขียนบทความนี้เป็นบันทึกความทรงจำไว้ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ความตอนหนึ่งว่า
“…การหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เช่นพระมงคลบพิตร ในสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นการหล่อที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะจะต้องหล่อเป็นชิ้น ๆ แล้วนำมาเชื่อมติดต่อกันเป็นองค์ ทำให้เห็นรอยต่อและตะเข็บของสำริดที่เชื่อมกันไว้ ดูไม่งาม ช่างโบราณจึงจำเป็นต้องลงรักปิดทอง เพื่อให้ปิดบังรอยต่อและตะเข็บของสำริดที่ต่อไว้ แล้วจึงปิดทองให้ดูสวยงามเปล่งปลั่งขึ้น
ภายหลังเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ถูกพม่าข้าศึกเผาทำลาย ความชำรุดทรุดโทรมเกิดขึ้นทั่วไปในกรุงศรีอยุธยา ทำให้เมืองร้าง ร่องรอยต่าง ๆ จึงสูญหายไปเหลือแต่รักที่ดำทะมึนอยู่ เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธรูปในเมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนาราม ที่ยังเหลืออยู่ แม้เมื่อมีการซ่อมแซมใน ปี พ.ศ.๒๔๗๔ และ ปี พ.ศ.๒๔๙๘ ก็ได้แต่เพียงซ่อมแซมองค์พระพุทธรูปและทำวิหารครอบองค์พระไว้เท่านั้น มิได้ปิดทององค์พระด้วย ภาพต่าง ๆ จึงยังคงติดตาและคุ้นเคยแก่ผู้ที่ได้พบเห็นว่า พระสุมงคลบพิตรไม่ได้ปิดทอง
เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธรูป พระมงคลบพิตรจำลอง ทรงมีรับสั่งถึงพระสุมงคลบพิตรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายชัยวัฒน์ หุตะเจริญ และคณะกรรมการมูลนิธิ ว่า “ปิดทองพระมงคลบพิตรเสียเถิด อยุธยาจะได้เจริญรุ่งเรืองสดใส”
ในครั้งนั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการ ได้ทำเรื่องเข้าปรึกษาหารือกับกรมศิลปากร ว่า จะปิดได้หรือไม่ เพราะเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งก็ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนว่า ปิดได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังค้างคาไม่ดำเนินการอยู่
จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาในครั้งนี้ ผู้เขียนได้กราบทูลถวาย เรื่องที่สมเด็จพระสังฆราช รับสั่งไว้ ทรงได้รับฟังความคิดเห็นของท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และผู้เขียนแล้ว ทรงรับสั่งเป็นเสมือนพระราชวินิจฉัย ตัดสินเป็นที่สุด ว่า “ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราช รับสั่งให้ปิดทอง ก็ควรปิดเสียตามรับสั่ง”
และพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระมงคลบพิตร เป็นประเดิม นับเป็นนิมิตหมายที่นำมาสู่การปิดทององค์พระมงคลบพิตร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาส พระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถด้วย…”
ภาพของพระมงคลบพิตรในสมัยรัชกาลที่ ๖ หลังซ่อมบูรณะองค์พระ โดยที่ยังไม่ได้บูรณะพระวิหารและปิดทององค์พระที่เราได้นำมาให้ชมในวันนี้ คงเป็นเครื่องยืนยันว่าวิหารพระมงคลบพิตรได้รับปฏิสังขรณ์ให้งดงามดังความในพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ และบันทึกการเดินทางสมัยกรุงศรีอยุธยาขึ้นมากขนาดไหน
พิกัด https://goo.gl/maps/q9q5ydp2pJAMrkseA
ค่าเข้าชม ฟรี
เวลาให้เข้าชม วันธรรมดาเปิดตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.
ข้อควรระวัง โปรดสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม
ขอบคุณข้อมูลการท่องเที่ยวทิพย์จาก ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.
สถานที่ที่ ๓ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม หรือ พระราชวังจันทรเกษม
พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ครั้งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช เมื่อประมาณ พุทธศักราช ๒๑๒๐
พระราชฐานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาขึ้นบนรากฐานเดิม สร้างพลับพลาจตุรมุข พร้อมพระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า “พระราชวังจันทรเกษม”
ต่อมาพระราชวังจันทรเกษม ได้ใช้เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า และได้สร้างอรรถประโยชน์มากมายจวบจนบทบาทของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปัจจุบัน
ดังความปรากฏในหนังสือ “ตำนานกรุงเก่า” โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) แต่งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ตอนหนึ่งว่า
“… อนึ่งชื่อที่เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่าวังหน้าก็มาจากเหตุที่พระราชวังบวรตั้งอยู่ที่ขื่อหน้า และเป็นด้านหน้าของพระราชวังหลวงด้วย ในพงศาวดารกล่าวความว่าในพระราชวังจันทร์มีพระที่นั่งจตุรมุข พระที่นั่งพิมานรัถยา และศาลาลูกขุน และคงจะได้มีโรงช้างโรงม้าพระที่นั่ง และหัวยคลังต่าง ๆ ด้วย
วังนี้เดิมชื่อพระราขวังจันทร์บวร เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาทำลายแล้ว วังก็รกร้างว่างเปล่า ภายหลัง
มีราษฎรทำไร่ปลูกต้นน้อยหน่า มาในรัซกาลที่ ๔ เมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๗๙
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำพระที่นั่งพิมานรัถยาขึ้นตามแนวรากเดิม กับทำพลับพลาจตุรมุข มีกำแพงล้อมรอบเป็นพระราชวังที่ประทับสำหรับในเวลาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาประพาสกรุงเก่า ทรงเปลี่ยนสร้อยชื่อเป็นพระราชวังจันทร์เกษม แต่กำแพงวังซึ่งโปรดให้ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นั้น วงเล็กแคบกว่าวงกำแพงเดิมมาก
มาในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้ใช้ที่โรงละคร คือที่เป็นศาลมณฑลอยู่เดี๋ยวนี้เป็นโรงทหาร มาภายหลังเมื่อโปรดให้ตั้งมณฑลเทศาภิบาล จึงได้ย้ายให้กองทหาร ออกไปตั้งอยู่ที่โรงนอกกำแพงวัง
โปรดให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัถยา กับพลับพลาจตุรมุขกับแถวทิมคด สำหรับใช้เป็นที่ว่าราชการ
ครั้นเมื่อ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นไปประทับบนพระที่นั่งพิมานรัถยา ทรงพระกรุณาพระราชทานพระฤกษ์ ทรงเปิดให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า…”
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม:Chantharakasem National Museum เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคนทุกช่วงวัย ในเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและศิลปวัฒนธรรมสมัยอยุธยา อาทิ เครื่องปั้นดินเผาสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปวัตถุพุทธบูชา และ วิถีชีวิตริมน้ำชาวกรุงเก่า ซึ่งจัดเป็นนิทรรศการถาวรภายในตึกที่ทำการภาค
#โบราณสถานที่น่าสนใจ
– กำแพงและประตูวัง
– พระที่นั่งพิมานรัตยา
– พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง
– ตึกที่ทำการภาค (มีนิทรรศการถาวร)
– พลับพลาจตุรมุข
พิกัด https://goo.gl/maps/3FW74ZQgYg3xbdEP7
ค่าเข้าชม
ชาวไทย ๒๐ บาท
ชาวต่างประเทศ ๑๐๐ บาท
นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม
เวลาให้เข้าชม
เปิดบริการวันพุธ-วันอาทิตย์ ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
ข้อควรระวัง โปรดสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม
ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจาก : Museum Thailand
ผ่านไปแล้วกับสามสถานที่ที่น่ามาเยี่ยมชมในจังหวัดอยุธยา แน่นอนว่าในจังหวัดนี้ ยังมีอีกหลายสานที่ให้มาเยี่ยมชมและเรียนรู้ไปกับแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของคนไทย อดใจรออีกนิด และอย่าลืมกดติดตามเพจ Siam Renaissance เพื่อเตรียมเที่ยวทิพย์ ย้อนยุคไปในกรุงเก่า กับภาพถ่าย ๑๐๐ ปี พระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 2 เร็ว ๆ นี้ค่ะ