ในสายตาคนฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๘๖๑
“…เครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๑ นั้นได้รับการจัดเก็บไว้อย่างไม่เป็นระเบียบเท่าใดนักที่พิพิธภัณฑ์ห้องจีนของพระจักรพรรดินีเออเฌอนี
นับตั้งแต่ถูกส่งมาประเทศฝรั่งเศส เครื่องมงคลราชบรรณาการอยู่รวมกับเครื่องราชบรรณาการที่ส่งมาจากพระราชวังฤดูร้อนของปักกิ่ง รวมไปถึงสมบัติจากสงครามและเครื่องราชบรรณาการต่างๆ เป็นสิ่งตอบสนองความทะเยอทะยานของพระจักรพรรดินีเออเฌอนีที่ทรงสนพระทัยยิ่งในสิ่งแปลกใหม่
ซึ่งบรรดาสิ่งของที่ได้มาจากสงครามที่จัดแสดงอยู่นั้น ได้บดบังเครื่องมงคลราชบรรณาการที่มีค่าจากสยาม จนบรรดาสิ่งของดังกล่าวไม่มีคุณค่าดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔…
…ทั้งนี้ได้พิจารณาเห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกษัตริย์สยามและกษัตริย์เขมร ระบบกษัตริย์สยามสืบทอดมาจากเขมร แม้ว่าในศตวรรษต่อๆมา กัมพูชาจะกลายเป็นรัฐบรรณาการของสยาม จนกระทั่งชาติตะวันตกเดินทางเข้ามาในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๙*
ราชอาณาจักรทั้งสองนี้นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ก็อาจไม่ได้สืบทอดประเพณีดั้งเดิมของเขมรยุคเมืองพระนครไว้ ซึ่งอาจเป็นศาสนาพราหมณ์หรือพระพุทธศาสนามหายานก็เป็นได้
ในหลักฐานเขมร บาคู (Bakou) หรือพราหมณ์ประจำราชสำนักมีหน้าที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมในพระราชวังและยังคงมีบทบาทสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย เครื่องมงคลราชบรรณาการบางชิ้น (พระมหาสังข์อุตราวัฏและพระมังสี) ที่ถูกส่งมานับเป็นหลักฐานที่ดีในเรื่องนี้…
…เราไม่อาจจบมุมมองเกี่ยวกับเครื่องมงคลราชบรรณาการที่สยามส่งมาฝรั่งเศสได้ หากไม่ได้เอ่ยถึงความไม่รู้ของผู้รับเครื่องมงคลราชบรรณาการที่ผ่านการเลือกสรรมาเป็นอย่างดี ซึ่งไม่เกี่ยวกับหน้าที่หรือลักษณะที่ชัดเจนของสิ่งของ หรือสถานที่สร้างสรรค์ชิ้นงานเหล่านี้ บรรณานิทัศน์ข้อมูลรายการสิ่งของจัดแสดงมักให้ไว้เพียงว่าเป็น “ผลงานแบบเปอร์เซีย” บ้างก็ว่า “ศิลปะอินเดีย” หรือ “กริชมลายู” หรือ “ป้านชาแบบจีน”
ราวกับว่าในสายตาคนฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๘๖๑ ชาวสยามไม่มีความสามารถที่จะประดิษฐ์ของเหล่านั้นขึ้นมาด้วยตนเอง หรือไม่ก็ลอกเลียนแบบมา อย่างไรก็ดีผลงานทุกชิ้นก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงศิลปะที่ประณีตของสยามในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙
ทั้งนี้ของแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอินเดีย จีนหรือตะวันตก แต่เครื่องมงคลราชบรรณาการเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงงานฝีมือของประเทศหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำมาจัดแสดงในงานแสดงศิลปหัตถกรรม (Expositions universelles) ที่สยามเข้าร่วมด้วย**…”
หมายเหตุ
*Jeldres และ Latham, ๒๐๐๒
** Demeulenaere – Douyere, ๒๐๒๐ หน้า ๑๘๘ – ๑๘๙