ไปดูงานทางการทหารครั้งแรกของสยาม
โดยกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
วิเทโศบายของสยามมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างมาก เมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มดำเนินวิธีการค่อยๆยึดครองดินแดนต่างๆในเอเชีย สยามจำต้องติดตามความเป็นไปของนานาประเทศรอบด้านอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงดำเนินนโยบายประณีประนอมรอมชอมอย่างรอบคอบกับจักรวรรดินิยมตะวันตกเสมอมา จนกระทั่งเวียดนามคือประเทศจิ้มก้องแห่งแรกที่หลุดมือจากจีน เริ่มจากตังเกี๋ยที่เหมือนเป็นแนวกันชนของจีน ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ (หากไม่นับโคชินจีนที่เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๐) ส่วนอันนัมหรือเวียดนามตอนกลางตกเป็นของฝรั่งเศสในปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ รัฐบาลสยามย่อมจะเห็นเค้าลางแห่งการล่าอาณานิคมนี้ และจีนเองก็ฉวยโอกาสที่เวียดนามถูกฝรั่งเศสคุกคาม มาเป็นเหตุผลเกลี้ยกล่อมให้สยามจิ้มก้องอีกเพื่อผนึกกำลังต่อต้านฝรั่งตะวันตก
แต่ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ ความพ่ายแพ้ของจีนต่อญี่ปุ่น (First Sino – Japanese War 1894 – 1895) ทำให้สยามยิ่งมั่นใจว่าจีนอ่อนแอจนพึ่งพาไม่ได้อีกแล้ว
สงครามจีน – ญี่ปุ่น ปีพุทธศักราช ๒๔๓๗ – ๒๔๓๘ เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างอำนาจเก่า (จีน) และอำนาจใหม่ (ญี่ปุ่น) ในเอเชียตะวันออก โดยมีเกาหลีเป็นสมรภูมิ ความวุ่นวายทางการเมืองภายในของเกาหลีเป็นมูลเหตุแห่งการเผชิญหน้ากันครั้งนี้ โดยเกาหลีเป็นรัฐจิ้มก้องของจีนและจีนมีพันธะที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของเกาหลีในฐานะประเทศพี่ใหญ่ตามขนบรัฐโบราณและตามสนธิสัญญา ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการขยายอิทธิพลเข้ามายังคาบสมุทรเกาหลีด้วยการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ แต่จีนได้ตระหนักถึงความอ่อนแอของตนเองและความล่าช้าในการปฎิรูปกองทัพแบบสมัยใหม่ ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่ใช้กองทัพแบบตะวันตกและมีรัฐบาลแบบตะวันตก ชัยชนะจึงตกเป็นของญี่ปุ่นในที่สุด จีนได้สูญสียเกาหลีที่เป็นรัฐจิ้มก้องมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ ๑๓ (ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่สยามเริ่มจิ้มก้องจีน)
ผลพวงจากชัยชนะของ ”ประเทศน้อย” อย่างญี่ปุ่น ต่อ “ประเทศใหญ่” อย่างจีน ทำให้สยามตระหนักในความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่น เชื่อมั่นถึงขนาดจ้างชาวญี่ปุ่นมาเป็นข้าราชการในกระทรวงสำคัญด้านความมั่นคง ทั้งกลาโหม มหาดไทยและยุติธรรม
ในเวลานั้นประเทศสยามต้องพยายามคานอำนาจระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส จึงจ้างชาวต่างชาติเข้ามารับราชการหลายคน โดยเน้นประเทศที่ “เป็นกลาง” หรือมีความคิดที่จะใช้สยามถ่วงดุลกับอังกฤษและฝรั่งเศส เช่น เยอรมันและรัสเซีย การเข้ามาของข้าราชการญี่ปุ่นทำให้รัสเซียเริ่มกังวลว่าญี่ปุ่นเริ่มมีอิทธิพลเหนือสยาม ในเวลานั้นรัสเซียกับญี่ปุ่นเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่กรณีสงครามจีน – ญี่ปุ่น ปีพุทธศักราช ๒๔๓๗ – ๒๔๓๘ ซึ่งรัสเซียพยายามที่จะเข้ามามีอิทธิพลในเกาหลีแต่ก็ถูกญี่ปุ่นช่วงชิงไปได้ รัสเซียจึงไม่อาจปล่อยให้สยามซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐจิ้มก้องอีกรัฐหนึ่งของจีนตกเป็นของญี่ปุ่น
มาถึงเวลานี้เราต้องย้ำอีกครั้งเพื่อป้องกันความสับสนว่า จีนต้องการสยามกลับมาเป็นรัฐจิ้มก้อง แต่สยามต้องการเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เป็นอิสระ ขณะเดียวกันสยามถูกคุมคามจากฝรั่งเศสและอังกฤษ สยามจึงต้องดำเนินวิเทโศบายทางการทูตที่แหลมคม ด้วยการดึงเอาชาติที่ต้องการแข่งขันกับอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาช่วยถ่วงดุล แต่ชาติเหล่านั้นไม่อาจมีอิทธิพลเหนือสยามได้เพราะวุ่นวายอยู่กับการแย่งชิงอิทธิพลกันเอง กรณีตัวอย่างคือ รัสเซียกับญี่ปุ่น
สมรภูมิแย่งชิงความเป็นใหญ่ในเอเชียระหว่างจีนกับญี่ปุ่นมีพื้นที่หลัก ๓ แห่ง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (แมนจูเรีย) ที่รัสเซียได้เป็นเขตอิทธิพลตามสนธิสัญญาหลังสงครามฝิ่นครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ เกาหลีที่เป็นเขตอารักขาของญี่ปุ่นหลังจีนแพ้สงครามในปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ และสยามที่ยังไม่มีใครได้ไปครอง
รัฐบาลรัสเซียจึงส่งทูตเข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ A.E.Olarovskii ในประเด็นเรื่องความกังวลใจของรัฐบาลรัสเซียต่ออิทธิพลญี่ปุ่นในสยามนั้น Karen Snow [1]ได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์บทความเรื่อง St. Petersburg’s Man in Siam กล่าวว่าพระเจ้าซาร์และกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียสั่ง Olarovskii “ให้การช่วยเหลืออย่างมีน้ำใจ” และ “ให้การสนับสนุนด้านกำลังใจ” แก่ประเทศสยามใน “การต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านอันยิ่งใหญ่” ซึ่งหมายถึงฝรั่งเศสในอินโดจีนและย้ำว่ารัสเซียจะช่วยสยามอย่าง “ปราศจากความเห็นแก่ตัวและความพยายามที่จะเอาเปรียบ”
แต่แล้วในปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ผู้แทนรัสเซียในบางกอก Olarovskii ได้ถวายโทรเลขของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีเนื้อหาโน้มน้าวให้พระองค์ยอมตกลงกับฝรั่งเศส เรื่องนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่ารัสเซียเปลี่ยนท่าทีแล้ว[2]
Snow ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่รัฐบาลรัสเซียและ Olarovskii เปลี่ยนท่าทีมาเข้าข้างฝรั่งเศส มีความเป็นไปได้อยู่ ๒ ประการ คือ ฝรั่งเศสให้สัญญากับรัสเซียว่าจะยกหมู่เกาะบางแห่งในทะเลอินโดจีนเพื่อเป็นสถานีจอดพักของกองทัพเรือรัสเซีย และจะให้โอกาสด้านการค้าขายแก่รัสเซียในดินแดนที่เคยเป็นของสยามที่ฝรั่งเศสควบคุมไว้ อีกสาเหตุคิดฝรั่งเศสต้องการขยายเส้นทางในดินแดนที่ยึดมาได้จากสยามเพื่อขยายโอกาสด้านการค้าขายในภาคใต้ของจีนแข่งกับอังกฤษ
เมื่อสยามพบว่าตนเองไม่สามารถพึ่งพาคานอำนาจจากประเทศอื่นๆมาคานอำนาจนักล่าอาณานิยมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้แล้ว ฉากหน้ารัฐบาลสยามจึงจำเป็นต้องอดทนและค่อยๆปรับปรุงพัฒนาระบบราชการและการปกครองรูปแบบใหม่ที่ได้จากที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสยามก้าวทันโลก แต่ในฉากหลัง รัฐบาลสยามก็พยายามสร้างพันธมิตรใหม่ๆอยู่เสมอ โดยประเทศญี่ปุ่นนับเป็นตัวเลือกแรกที่สมาชิกในคณะรัฐบาลสยามต่างเห็นชอบที่จะเปิดความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นทั้งในระดับพระราชวงศ์และระดับประเทศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตอบรับในเรื่องนี้อย่างแข่งขัน
และแล้วในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ในฐานะผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสด็จไปดูงานทางการทหาร ณ ประเทศญี่ปุ่น และดินแดนอาณานิคมของญี่ปุ่นอย่างแมนจูเรียกับเกาหลีพร้อมคณะ ซึ่งการเดินทางไปดูงานการทหารครั้งนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือกันขึ้นระหว่างรัฐบาลสยามและรัฐบาลญี่ปุ่น นอกเหนือจากการเจริญสัมพันธไมตรีโดยทั่วไปแล้ว สยามยังได้ปรับเปลี่ยนนโยบายทางการทหารให้ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น มีคำสั่งซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์จากญี่ปุ่นหลายรายการ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในประเทศสยามมากขึ้นตามคำแนะนำของนายอินะงะกิ มันจิโร อุปทูตคนแรกที่ญี่ปุ่นส่งมาประจำอยู่ในบางกอก
ซึ่งรัสเซียในช่วงเวลาที่สงครามรัสเซีย – ญี่ปุ่น (Russo – Japanese War) ได้อุบัติขึ้น จนภายหลังจากการพ่ายแพ้ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้แสดงท่าทีเข้าข้างฝรั่งเศสในข้อพิพาทต่างๆที่เกิดกับสยามมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ Snow วิเคราะห์ว่าเรื่องนี้เองเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยที่จะไม่ส่งพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งไปศึกษาที่รัสเซีย ดังที่ทรงเคยส่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถไปศึกษาวิชาทหารและรับราชการที่รัสเซีย
[1] คอลัมนิสต์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ วารสาร Cahiers du monde russe วารสารภาษาฝรั่งเศส
[2] Snow, karen. “St. Petersburg’s Man in Siam”. Cahier du monde russe [En Ligne]. 48/4 / 2003, mis en ligne le 01 janvier 2007, Consulte le 03 Janvier 2020.