ต้อนรับกลับไทย “Golden Boy”
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ
การส่งมอบโบราณวัตถุคืนให้แก่ประเทศไทยในวันนี้ รวมไปถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทโพลิทันและกรมศิลปากรเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือจากการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องของทั้งสองฝ่าย
การส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน ๒ รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทย สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันว่า โบราณวัตถุดังกล่าวเป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรม การส่งคืนโบราณวัตถุให้แก่ประเทศไทยเกิดขึ้นหลังจากที่เดอะเม็ท เริ่มการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งการริเริ่มนี้ขับเคลื่อนโดยความมุ่งมั่นของพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงถึงการที่เดอะเม็ทให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง
ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือที่รู้จักในนาม Golden Boy เป็นประติมากรรมที่มีรูปร่างงดงาม แต่น่าเสียดายที่ไม่มีจารึกใด ๆ ที่จะปรากฏเป็นเบาะแสในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดได้เลย แน่นอนว่ารูปเคารพนี้ ทำหน้าที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญในเทวสถาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะหมายถึง พระศิวะ เทพในศาสนาพราหมณ์
พระศิวะโดยปกติจะปรากฏในรูปของศิวลึงค์ ดังที่เราเห็นได้จากโบราณวัตถุหลายๆ ชิ้น ที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำเสนอในแบบมานุษยรูปนิยมของเทพ ซึ่งอาจจะมีนัยยะที่ซ้อนอยู่ คือเหมือนดั่งพระศิวะอวตารในรูปจำแลงของกษัตริย์ ผู้อุปถัมภ์ในการสร้าง หรืออาจจะเป็น บรรพบุรุษใกล้ชิดของกษัตริย์ ที่ได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศการสร้างรูปเคารพของผู้ปกครองอันศักดิ์สิทธิ์ในรูปร่างของเทพเจ้านั้น มีคำอธิบายไว้ในจารึกของราชวงศ์เขมรหลายฉบับ อันเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียม ที่ยกย่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเทวราชา
รูปหล่อสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นของวัฒนธรรมเขมรในสมัยเมืองพระนครของกัมพูชา ที่อยู่ในจุดสูงสุด ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 ถูกค้นพบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก ในสระน้ำที่คนขุดขึ้น ณ เมืองพระนคร เป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีขนาดความยาว 3 เมตร
ประติมากรรมมสำริดรูปพระศิวะองค์นี้ โดดเด่นกว่ารูปประติมากรรมที่กล่าวมานั้น ในแง่ของคุณภาพของประติมากรรม และความประณีต ส่วนความยิ่งใหญ่ของตัวประติมากรรมและการตกแต่งเครื่องประดับนั้น ยังไม่อาจเทียบได้ รวมถึงการตกแต่งด้วยการกะไหล่ทองซึ่งยังคงอยู่แม้ผ่านมานับพันปี
หากพิจารณาจากผ้านุ่งห่มแบบสมพตในภาษาเขมรหรือผ้านุ่งในภาษาไทย มีการตกแต่งรอยผูกที่ชายผ้าด้านหน้าและปมผ้าด้านหลังก็ตกแต่งอย่างสวยงามสะท้อนเรือนร่างที่สวมใส่อยู่เครื่องประดับ พาหุรัด กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า กรองคอ และ มงกุฎ เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์
ดังที่ คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตไว้ การวางเท้าเหลื่อม อาจบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหว หรือสิ่งนี้คือเทพที่กำลังเคลื่อนไหว !
โบราณวัตถุชิ้นที่สองในวันนี้คือ ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ ประดับด้วยเพชรพลอย และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นสตรีในราชสำนัก กระทำกิริยาท่าทางการสักการะตามธรรมเนียม ท่านั่งโดยพับขาข้างหนึ่งไว้ข้างใต้ (เท้ามองเห็นได้จากด้านหลัง) มีลักษณะเป็นธรรมชาติ และปฏิบัติตามมารยาทในการนั่งต่อหน้าพระราชวงศ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย
การสร้างประติมากรรมสำริดในลักษณะนี้ ต้องทุ่มเทและใช้ทรัพยากรอย่างมาก เนื่องจากมูลค่าของโลหะมีราคาสูงมาก ในความคิดเห็นของผมเชื่อว่าผลิตขึ้นในโรงหล่อหลวงบริเวณชั้นในของเมืองพระนคร ดังเช่น โรงถลุงแร่และหล่อโลหะแห่งหนึ่งภายในบริเวณพระราชวังที่นครธมที่ได้รับการสำรวจทางโบราณคดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ประติมากรรมทั้งสองชิ้นหล่อด้วยกระบวนการสูญขี้ผึ้ง โดยมีแกนเหล็กที่ยื่นออกมาจากส่วนมงกุฎถึงเท้า เมื่อการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้ายบนพื้นผิวสำริด ทำได้อย่างประณีตและละเอียด เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของทั้งพระศิวะและสตรีนั่งชันเข่าโดยละเอียด พบว่าทั้งสององค์มีการตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือทองคำและเงิน
พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวดและเคราก็มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน ประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ติดตั้งอยู่บนแท่นหินในเทวสถาน ที่สร้างด้วยศิลาแลงหรืออิฐ สว่างไสวด้วยตะเกียงน้ำมัน ประติมากรรมทั้งสองนี้จึงมีอำนาจและสง่างามน่าหลงใหล
พระศิวะประทับยืนเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่สำคัญสำหรับการสักการะในวิหารหลวง แต่ตามที่ได้กล่าวไปแล้วตอนต้น มันอาจจะทำหน้าที่สองอย่างพร้อมกัน โดยเป็นตัวแทนของเทพเจ้าและรูปบรรพบุรุษใกล้ชิดของกษัตริย์ จารึกหลายฉบับกล่าวถึงวัดหลวงที่อุทิศให้กับบรรพชนผู้ล่วงลับของชนชั้นปกครอง และรูปเคารพนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นตามหลักการดังกล่าว แม้ว่ารูปเคารพดังกล่าวถูกกำหนดไว้เพื่อการสักการะของราชวงศ์ที่นครวัด แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า รูปเคารพเหล่านี้ถูกส่งไปประดิษฐานยังเมืองสำคัญของอาณาจักรเขมรด้วย
ในช่วงเวลานั้นมีการแผ่ขยายอิทธิพลทางศิลปะไปทางทิศใต้บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง และทางตะวันตกเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ระบบถนนหลวงที่ทอดยาวเชื่อมโยงเมืองพระนครไปทางตะวันตกสุดจนถึงจังหวัดลพบุรีทางภาคกลางของประเทศไทย ศิลปะเขมรที่พบในไทยจึงเรียกว่า “ศิลปะลพบุรี”
โดยกรมศิลปากรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชมความงามของโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกัน ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป