การติดตามทวงคืนสมบัติชาติที่ต้องสนใจ
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ก็เดินทางกว่าครึ่งโลกจากท่าอากาศยานนครลอสแอนเจลิสถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังจากที่ถูกนำออกนอกราชอาณาจักรไทยไปเป็นเวลานับสิบๆ ปี เราก็ได้เห็นข่าวแสดงความปิติยินดีที่ทับหลังทั้งสองนี้ได้เดินทางกลับมาตุภูมิปรากฏขึ้นตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ หลายคนตั้งตารอไปชมสมบัติชาติชิ้นนี้ หลายคนพลอยยินดีแล้วผ่านไปสนใจกับหลายเรื่องที่รุมเร้าเข้ามาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคภัย กระทั่งหลายคนยังไม่เข้าใจว่าทำไมหินสองก้อนที่จะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองไทยนี่สำคัญตรงไหน อย่างไร
เช่นนั้นการทบทวนกระบวนการเดินทางกลับบ้านของทับหลังทั้งสองนี้ อาจจะทำให้เราได้เห็นสาระสำคัญระหว่างบรรทัดที่ควรสนใจ ว่าทำไมการติดตามทวงคืนสมบัติชาติหายไป มีอะไรที่เหมาะสมแก่การเป็น “เรื่องใหญ่” สำหรับทุกคน
ปราสาทหนองหงส์ ปราสาทเขาโล้น อยู่ที่ไหน สำคัญอย่างไรในเรื่องนี้ ?
ปราสาทหนองหงส์
ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบ ใกล้ลำนางรอง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อโบราณสถานแห่งนี้ได้มาจากชื่อสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เมตร ชาวบ้านเรียกกันว่า “สระหนองหงส์” หรือ “นางหงส์” พื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ ประกอบด้วยอาคารต่างๆ หลายส่วนทั้ง กลุ่มปราสาทประธานสามหลัง เรียงจากเหนือไปใต้ อาคารศิลาแลง (อาจเป็นบรรณาลัยหรือวิหาร) ซุ้มประตู (โคปุระ) และกำแพงแก้ว
ปราสาทหนองหงส์เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่สร้างขึ้นในศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย กำหนดอายุประมาณพุทธศักราช ๑๕๖๐ – ๑๖๓๐ ร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบาปวนในประเทศกัมพูชา โดยมีรูปแบบศิลปะที่พัฒนามาจากศิลปะขอมแบบคลัง พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ด้วยความที่ปราสาทแห่งเป็นเครื่องยืนยันถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรในพื้นที่ภาคอีสานแต่เดิมให้ศึกษากันต่อไปได้อย่างดี จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ และยังได้ขึ้นทะเบียนอีกครั้งเพื่อกำหนดขอบเขตโบราณสถานมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ อีกด้วย
ลักษณะทางศิลปกรรมที่โดดเด่นของทับหลังปราสาทหนองหงส์
ทับหลังชิ้นนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่สลักลวดลายพันธุ์พฤกษา บริเวณกึ่งกลางของทับหลัง ค่อนลงมาทางด้านล่าง สลักลายหน้ากาลหรือเกียรติมุขมีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม หน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกจากปากทั้งทางด้านขวาและซ้าย โดยใช้มือยึดท่อนพวงมาลัยเอาไว้ เหนือลายท่อนพวงมาลัยทั้งสองข้างสลักเป็นลายใบไม้สามเหลี่ยมตั้งขึ้น และใต้ท่อนพวงมาลัยสลักลายใบม้วนห้อยตกลงมาเบื้องล่าง เหนือลายหน้ากาลหรือเกียรติมุข มีรูปบุคคลนั่งอยู่เหนือสัตว์พาหนะที่มีลักษณะคล้ายโคหรือกระบือ อยู่อายในซุ้มเรือนแก้ว รูปบุคคลดังกล่าวน่าจะหมายถึง พระยมทรงกระบือ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศใต้
ปราสาทเขาโล้น
ปราสาทเขาโล้นตั้งอยู่บนยอดเขาโล้นซึ่งเป็นภูเขาขนาดเล็ก ใกล้ชายแดนประเทศกัมพูชา เป็นบริเวณที่มีช่องเขาอันเป็นที่ตั้งปราสาทขนาดเล็กหลายแห่ง ทางทิศตะวันตกของอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ปรากฏอยู่เพียงหลังเดียวบนยอดเขาเตี้ยๆ เป็นสถาปัตยกรรมก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาทมีบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่ ๒ แห่ง และมีแนวถนนโบราณทอดยาวจากตัวปราสาทถึงบาราย แม้ว่าโครงสร้างสถาปัตยกรรมของปราสาทเขาโล้นส่วนใหญ่ใช้วัสดุที่เป็นอิฐ แต่ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ ทับหลัง กรอบประตู และเสาประดับที่กรอบประตู ได้ทาจากหินทรายพบจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้ ระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช ๑๕๕๙
กล่าวกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานประจำเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณ เพื่อติดต่อไปมาหาสู่กัน ทั้งทางช่องเขาที่จะผ่านขึ้นไปทางเขมรสูง หรือเดินทางลงมายังบริเวณเขมรต่ำ หรืออาจใช้เส้นทางนี้เพื่อผ่านลงมายังชุมชนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ชุมชนบริเวณปราสาทเขาโล้นยังสะท้อนถึงการขยายตัวของชุมชนรุ่นใหม่ที่กระจายตัวไกลออกไปจากศูนย์กลางทางวัฒนธรรมซึ่งก็คือเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา
ความสำคัญทั้งหมดนี้จึงทำให้ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ต่อมาจึงประกาศขึ้นทะเบียนอีกครั้งเพื่อกำหนดขอบเขตโบราณสถานในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒
ลักษณะทางศิลปกรรมที่โดดเด่นของทับหลังปราสาทเขาโล้น
รูปแบบและลวดลายบนทับหลังแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของศิลปะเขมรแบบบาปวน ลวดลายบนพื้นที่ทับหลังส่วนใหญ่สลักเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา บริเวณกึ่งกลางทับหลังค่อนลงมาทางด้านล่างมีลวดลายสลักเป็นรูปหน้ากาลหรือเกียรติมุขที่มีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม มีลายท่อนพวงมาลัยออกจากหน้ากาลทั้งด้านขวาและซ้าย โดยหน้ากาลได้ใช้มือยึดท่อนพวงมาลัยแต่ละข้างไว้ ท่อนพวงมาลัยนี้ได้ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันข้างละสองวง เหนือลายท่อนพวงมาลัยสลักเป็นลายใบไม้สามเหลี่ยมตั้งขึ้น ท่อนพวงมาลัยที่ออกมาได้อยู่ใต้ลิ้นของหน้ากาล ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของทับหลังปราสาทเขาโล้น และใต้ท่อนพวงมาลัยสลักลายใบไม้ลักษณะเดียวกันห้อยตกลงมายังเบื้องล่าง เหนือลายหน้ากาลหรือเกียรติมุขมีเทวดานั่งชันเข่า มือขวาถืออาวุธ ประทับอยู่ภายในซุ้ม
ประมวลหลักฐานชี้ชัด เพื่อทวงคืนสมบัติชาติ
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ มีข่าวการนำประติมากรรมพระโพธิสัตว์ในศิลปะกลุ่มประโคนชัยทางภาคอีสานของไทยออกประมูล โดยสถาบันการประมูลชื่อดัง ทำให้เกิดกระแสการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างแดนขึ้น จากการสำรวจตรวจสอบพบว่ามีโบราณวัตถุของไทยจัดแสดงอยู่มากมายในพิพิธภัณฑสถานทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ราวต้นพุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเกิดกระแสเรียกร้องโบราณวัตถุไทยในสหรัฐอเมริกากลับคืนอย่างต่อเนื่อง
ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ก็เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่สูญหายไปจากที่ตั้งในช่วงราวพุทธศักราช ๒๕๐๙ – ๒๕๑๑ แต่ไม่ปรากฏรายงานหรือบันทึกเกี่ยวกับการสูญหาย ทว่าต่อมาได้ปรากฏทับหลังสองรายการนี้ อยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
การดำเนินงานในส่วนสำคัญที่สุดอีกส่วนหนึ่งจึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ทราบ ว่าทับหลังปราสาททั้งสองของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียนั้น เคยปรากฏอยู่ที่โบราณสถานทั้งสองแห่งจริงๆ และนี่นับเป็นอีกหนึ่งผลดีจากความพยายามศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทย ต่อยอดให้กว้างขวางยิ่งขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ของนักวิชาการ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างกรมศิลปากร
เมื่อปรากฏหลักฐาน ภาพปราสาทหนองหงส์ เมื่อคราวกรมศิลปากรโดย นายมานิต วัลลิโภดม ได้ดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งในการสารวจครั้งนั้น ทางคณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสารวจปราสาทหินหนองหงส์ พร้อมทั้งบันทึกรายละเอียดลักษณะโบราณสถานและทับหลังที่พบ พร้อมระบุข้อมูลส่วนหนึ่งว่า
“…เป็นปรางค์ ๓ องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานแลง รูปสี่เหลี่ยม ขนาด ๖.๗๐ x ๑๘.๐๐ เมตร องค์ปรางค์หลังกลางทำยกฐานสูงกว่าสองหลังข้าง ๆ เล็กน้อย และยอดยังบริบูรณ์ดีกว่ากันด้วย กรอบประตูปรางค์เป็นหินทรายทั้ง ๓ หลัง มีศิลาทับหลังประตูจำหลักลายและภาพอย่างงดงาม คือ ที่หลังเหนือจำหลักเป็นรูปพระนารายณ์ขี่ครุฑอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข หลังกลางจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข ทับหลังทั้ง ๒ แผ่นนี้หลุดตกอยู่ที่ลานหน้าปรางค์ ที่หลังใต้ จำหลักเป็นรูปพระอิศวรขี่โคอุสภราชอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข ยังคงติดอยู่กับที่…”
(ข้อมูลที่ถูกต้องในปัจจุบัน ภาพบนทับหลังปราสาทด้านทิศใต้ ได้ตีความใหม่ว่าเป็นภาพพระยมทรงกระบือ)
และในส่วนของทับหลังปราสาทเขาโล้นนั้น ปรากฏว่าในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ ๕ ดำเนินการสำรวจโบราณสถานแห่งนี้ พร้อมทั้งถ่ายภาพและบันทึกรายละเอียดหลักฐานที่ค้นพบไว้ว่า
“…สิ่งสำคัญที่สุดของปราสาทหลังนี้คือวงกบประตูหินทรายสูงประมาณ ๑ เมตร หนาเกือบ ๑ ฟุต มีจารึกอักษรโบราณที่วงกบประตูทั้ง ๒ บาน แต่ส่วนหนึ่งของจารึกได้กะเทาะบุบสลายไป….ทับหลังประตูหินทรายมีลวดลายใบไม้ล้อมรอบ ตรงกลางมีเกียรติมุขมองเห็นได้ชัดเจน เหนือทับหลังขึ้นไปเป็นหน้าบันอิฐเผาซึ่งมีลวดลายบ้างเล็กน้อย…”
พุทธศักราช ๒๕๑๐ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์และพิมพ์หนังสือศิลปะสมัยลพบุรี ซึ่งมีภาพถ่ายทับหลังจากปราสาทเขาโล้นประกอบในหนังสือเล่มนี้ด้วย
การติดตามทับหลังทั้ง ๒ รายการ จึงเริ่มขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติให้ติดตามทับหลังทั้ง ๒ รายการ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำข้อมูล จนกระทั่งวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ กรมศิลปากรจึงได้ส่งข้อมูลให้กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
ซึ่งหน่วยงานฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่รับผิดชอบในคดี คือ สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigation – HSI) กระทั่งมีการนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล จนในที่สุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียยอมรับว่าทับหลังทั้งสองรายการเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย และยินยอมให้ยึดทับหลังเพื่อส่งกลับคืนประเทศไทย
แม้ในปัจจุบันเองยังมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของไทย ที่ยังอยู่ในต่างแดนเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีจำนวนกว่า ๑๓๓ รายการ จากพิพิธภัณฑ์ ๒๐ แห่ง แต่ทับหลังทั้งสองรายการนี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของความพยายามติดตามทวงคืนมรดกของชาติกลับสู่แผ่นดินไทย ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยหลายภาคส่วนในประเทศ ได้ต่อเติมกระบวนการนี้ทีละเล็กทีละน้อย ทั้งกระแสเรียกร้องของนักวิชาการและประชาชน ภาครัฐทั้งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมไปทั้งกรมศุลกากร ที่อำนวยความสะดวกในการนำเข้าทับหลังทั้ง ๒ รายการ ให้ลุล่วงไปด้วยดี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ ไปจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์จัดรถนำขบวนเพื่อการรักษาความปลอดภัยสูงสุดให้กับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติตลอดการเดินทาง และความร่วมมืออันสำคัญยิ่งระหว่างประเทศ
เพราะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเหล่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงอิฐ หิน ดินทราย ไม่ใช่แค่งานศิลปะที่มีมูลค่า และไม่ใช่แค่ชิ้นงานที่เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ในคนไทยเข้าไปชมหรือเก็บเงินให้ฝรั่งเข้าไปดู หากเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่านิยามคำว่า “สมบัติชาติ” เพราะมันคือประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงๆ คือสิ่งที่บอกว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรมาได้บ้าง แต่ยิ่งไปกว่านั้น นี่คือชิ้นส่วนความทรงจำที่สามารถต่อเติมเสริมสร้างมิติของความเป็น “มนุษย์” ของผองชนในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวา เพื่อเราจะได้ศึกษาต่อไปได้อีกหลากหลายสาขาทั้งโบราณดคี ประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยากระทั่งภาษาศาสตร์
เมื่อเราเข้าใจอดีตที่เชื่อมโยงได้กับปัจจุบัน เราก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกับอนาคตมากเพียงไร