สารวัตรใหญ่เสือป่า
มหาเสวกโท พระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ ที่บ้านข้างพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นบุตรของหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ (สอน) เจ้ากรม กับนางผึ้ง
ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสราญรมย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นอกจากนี้ ยังสนใจศึกษาวิชาเฉพาะด้านอื่นๆ เช่น วิชาเลขลูกคิด จากหม่อมเจ้าตุ้ม อิศรางกูร วิชาทำแผนที่ จากพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) และวิชากฎหมาย จากโรงเรียนกฎหมาย จากนั้น ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้นเสด็จสวรรคต จึงย้ายไปเป็นมหาดเล็กเวรเดชในกรมมหาดเล็ก แล้วออกรับราชการเป็นเสมียนในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นเสมียนกรมศุลกากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นสารวัตรแขวง กระทรวงนครบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นช่างเขียน กระทรวงโยธาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ เป็นพนักงานอัยการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลเพชรบูรณ์ เป็นยกกระบัตรมณฑลปราจิณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นยกกระบัตรมณฑลนครชัยศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นยกกระบัตรมณฑลนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นปลัดมณฑลนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นปลัดมณฑลปราจิณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นเจ้ากรมตำรวจภูบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นสารวัตรในพระราชสำนัก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ และออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญด้วยเหตุรับราชการนานและสูงอายุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
ยศและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ เป็นหลวงบุรีภิรมย์กิจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นพระบรมราชบรรหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นอำมาตย์เอก เป็นพระยาวิเศษฦๅชัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นพันตำรวจเอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นเสวกเอก เป็นพระยาพิทักษ์ภูบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นมหาเสวกตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ และเป็นมหาเสวกโท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำคัญที่ได้รับพระราชทาน คือ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.) ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.) และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๓ (ว.ป.ร. ๓)
ในสมัยที่พระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) ยังรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้สืบสวนจับกุมโจรผู้ร้ายรายสำคัญด้วยความสามารถและความกล้าหาญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเข้ามารับราชการพระราชสำนักในตำแหน่งสารวัตร โดยมีหน้าที่สำคัญ คือ
“…ตรวจตราความประพฤติและกิริยาอัทยาไศรยของข้าราชการในพระราชสำนักทั่วไปในเวลาที่อยู่นอกจากจังหวัดสถานที่ทำการตามปรกติ แม้พบปะข้าราชการในพระราชสำนักคนใดประพฤติหรือกระทำการใดๆ ไม่สมควรในที่สาธารณสถานหรือที่สัญจรไปมา ซึ่งจะเปนเรื่องนำมาซึ่งความเสื่อมเสียในนามข้าราชการในพระราชสำนัก เช่น เสพย์สุรายาเมาจนไม่สามารถจะครองสติได้ก็ดี ทะเลาะก่อการวิวาทก็ดี หรือแต่งเครื่องแต่งกายไม่เรียบร้อยก็ดี สารวัดต้องเปนน่าที่ตักเตือนชี้แจงว่ากล่าวให้ข้าราชการนั้นๆ ประพฤติให้เปนที่เรียบร้อยสมควรแก่กิริยาของผู้ดี ถ้าและได้ชี้แจงว่ากล่าวแก่ข้าราชการนั้นๆ แล้ว แต่ไม่เชื่อฟังหรือขัดขืน ก็ให้สารวัดมีอำนาจที่จะจัดส่งข้าราชการนั้นๆ กลับไปยังกรมตามสังกัด แล้วและรายงานให้หัวน่าผู้ปกครองทราบเพื่อได้ลงโทษว่ากล่าวตามสมควร…”
พระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) ยังรับราชการเสือป่า มีตำแหน่งเป็น “สารวัตรใหญ่เสือป่า” บังคับบัญชากองสารวัตรเสือป่า มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในค่ายหลวงบ้านโป่ง ตรวจตรารักษาความประพฤติและระเบียบการแต่งกายของเสือป่า เช่นเดียวกับสารวัตรทหาร เพราะเมื่อถึงกำหนดการประลองยุทธประจำปี ในระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนเมษายน บรรดาเสือป่าและลูกเสือต่างเดินทางมาประชุมพร้อมกันในค่ายหลวงบ้านโป่งเป็นจำนวนมาก ย่อมจะมีผู้ประพฤติผิดวินัยอยู่เนืองๆ
ความที่สารวัตรเสือป่าภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง จึงมักถูกเพื่อนเสือป่าตั้งข้อรังเกียจและล้อเลียน ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ล้อพระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) และมีบทพระราชนิพนธ์สักวา “แดงครวญ” พระราชทานไว้กับภาพล้อในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต เล่ม ๑ ฉบับที่ ๘ (๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑) ว่า
ศักระวาคิดมาน่าน้อยจิต
เออยิ่งคิดยิ่งหมองไม่ผ่องใส
เสียแรงสู้เหนื่อยยากลำบากใจ
ไม่มีใครชอบเราเศร้าอุรา
เสียแรงคอยสอดส่องมองคอยเหตุ
มิให้เภทภัยพาลเกิดฉานฉ่า
ชนกลับชังคอยนั่งแต่นินทา
แขนแดงจ้าหน้าดำครำเครียดเอย ฯ
มหาเสวกโท พระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคปอดและไตพิการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ รวมอายุ ๖๔ ปี โปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายก้านขดรองศพเป็นเกียรติยศ และพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดบรมนิวาศ เมื่อวันพุธที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙