ในยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในภูมิภาคนี้ได้รับการสำรวจและค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากชาวตะวันตกหรือชาวยุโรปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหตุผลผลักดันที่สำคัญมีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือวัตถุประสงค์ในด้านวิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา และที่สำคัญอีกประการ คือ ‘รัฐ’ ในสมัยอาณานิคมหรือ ‘รัฐชาติ’ สมัยใหม่ที่มีพรมแดนที่แน่นอนนั้น มีความมุ่งหวังที่จะสร้างดินแดนที่สามารถควบคุมและสอดส่องมนุษย์ได้ทุกแห่งหน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการสำรวจประชากรเพื่อให้รับทราบทั้งเชิงปริมาณ เชื้อชาติและชาติพันธุ์ เพื่อจะได้บริหารจัดการคนและดินแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมปถึงประโยชน์ต่อการกำหนดสัญชาติเพื่อนิยามความเป็นพลเมืองต่อชาติที่ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่
แต่ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักมานุษยวิทยาสมัยใหม่ แต่กลับเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนให้กับนักสำรวจรุ่นเก่าจนกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งแก่เจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำสำมะโนประชากร และด้วยความไม่ชัดเจนนี้เองส่งผลให้เกิดการนิยามใหม่ ทั้งเรื่องราวความเป็นมาและชื่อในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ แม้กระทั่งเกิดการปั้นแต่งให้เกิดการนิยามว่านี่คือประเทศสยามมีชาวสยามหรือชาวไทย ประเทศพม่าต้องมีชาวพม่า หรือนิยมชื่อเขตการปกครอง อย่างชื่อมณฑลพ่วงไปกับชื่อชาติพันธุ์ที่บางครั้งก็อาจจะไม่สามารถหากลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้จริงๆ เช่น การเกิดขึ้นของมณฑลลาวเฉียง เป็นต้น
จากที่กล่าวมา ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่าชนชั้นนำของสยามนั้นยังไม่มีประสบการณ์สำรวจดินแดนและผู้คนเลย ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศได้ในอนาคต เพราะเนื่องด้วยรัฐต่างๆในภูมิภาคนี้ไม่เคยมีเส้นพรมแดนที่ชัดเจนมาก่อน เมืองตามพระราชอาณาเขต บางครั้งมีสถานะเป็น ‘ดินแดนที่หลายอาณาจักรอ้างสิทธิ์’ หรือ ‘เมืองสามฝ่ายฟ้า’ ซึ่งจำเป็นต้องส่งบรรณาการให้กับหลายอาณาจักรพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น เมืองไล ที่ต้องเสียบรรณาการให้แก่ จีน, สยามและเวียดนาม ทั้งนี้เพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองของตนเองเอาไว้ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นปัญหาขึ้นเมื่อชาวตะวันตกเข้ามาในภูมิภาคนี้
เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป รัฐบาลสยามจึงได้ว่าจ้างชาวยุโรปผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแผนที่เข้ามารับราชการในสยาม ในขณะเดียวกันเจ้าอาณานิคมก็ส่งนักสำรวจมาทำแผนที่เช่นกัน โดยกองจัดทำแผนที่ส่วนมากมักจะไม่เดินทางอย่างโดดเดี่ยว หากแต่เดินทางไปพร้อมกันกับกองทัพ ทั้งนี้เพื่อ ‘การสถาปนาเขตแดน’ และถ้าจำเป็นก็จะใช้อำนาจของกองทัพเข้าจับขจองดินแดนที่ขาดความชัดเจนเสีย ดังเช่นในปี พ.ศ.๒๔๒๘ กองทัพของสยามและฝรั่งเศสพร้อมด้วยกองจัดทำแผนที่ของแต่ละฝ่ายต่างใช้ข้ออ้างในการปราบฮ่อ เพื่อช่วงชิงเขตลาวและเวียดนามเหนือบางส่วน
นอกเหนือไปจากนี้ เจ้าพนักงานจัดทำแผนที่อาจยังต้องทำหน้าที่อื่นด้วย เช่น การสอบถามถึงความจงรักภักดีของเหล่ากรมการเมืองหรือเจ้าเมืองในเขตชายแดน เช่น กรณีคณะสำรวจของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) ที่ดั้นด้นไปจนถึงเมืองแถง ทางตอนเหนือของเวียดนามในปัจจุบัน ที่นั่นเขาได้รับจดหมายจากเจ้าไลแห่งเมืองไล เขตสิบสองจุไท ว่า
“เมืองไลยังคงจงรักภักดีต่อสยามไม่เปลี่ยนแปลง
และต่อต้านไม่ให้จักรวรรดิอันนัมรุกล้ำเข้ามาในอาณาเมืองสิบสองจุไท
ดังเช่นที่ต่อต้านพวกฮ่อ”
การออกสำรวจดินแดนอันห่างไกลของชนชั้นปกครองของสยามเมื่อราว ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมานั้น นอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือพลเมืองของตนเองแล้ว ยังถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ในแง่มุมของทั้งรัฐศาสตร์การเมือง, ศิลปศาสตร์, ภาษาศาสตร์, วัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจให้กับตนเองในทางอ้อม ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองของโลกในยุคนั้นที่ไม่สามารถการันตีความมั่นคงได้เลย เสมือนการยิงปืนนัดเดียวกลับได้ผลตอบแทนมากมาย และในทางกลับกันก็อาจเป็นการได้เรียนรู้แผนการของเจ้าอาณานิคมที่พร้อมจะแผ่อำนาจเข้าครอบคลุมดินแดนแห่งนี้ไปในตัวเช่นกัน
…รับรู้และเข้าใจเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในดินแดนของสยามและอินโดจีน ไปกับ
‘พลเมืองสยาม ประวัติศาสตร์จากภาพถ่ายชาติพันธุ์ในยุคการล่าอาณานิคม’
โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์… Soon