“มังกรตายที่ปักกิ่ง”
ปฐมเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์ชิง
เรื่องเล่าจากการศึกษาภาพเก่าของจีนที่ค้นพบในสยาม
มีภาษิตจีนกล่าวว่า “ความมั่งคั่งสืบทอดไม่ถึงสามรุ่น” คำกล่าวนี้ใช้ได้กับทั้งการสืบทอดธุรกิจครอบครัวและการสืบทอดความมั่งคั่งและมั่นคงของแผ่นดิน ในสมัยราชวงศ์ชิง มียุคสมัยที่รุ่งเรืองจนกล่าวกันว่าเป็นยุคทองครั้งสุดท้ายของศักดินาจีน คือรัชสมัยของพระเจ้าคังซี พระเจ้ายงเจิ้ง และพระเจ้าเฉียนหลง รวม ๓ รัชกาล ยาวนานถึง ๑๓๔ ปี แต่หลังจากนั้นราชวงศ์ก็เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ จักรวรรดิที่มีแผ่นกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรนับสิบล้านคนถูกคุกคามจากชาติตะวันตกที่มีพลเมืองเพียงหยิบมือและมีแผ่นดินไม่เท่ากับมณฑลหนึ่งของจีน ความล่มสลายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
วามล่มสลายของราชวงศ์ชิงเกิดขึ้่นในสมัยเฉียนหลง ซึ่งเป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองในช่วงต้นรัชกาล แต่เสื่อมถอยในปลายรัชกาล ในยุคนี้มีการทำสงครามใหญ่ ๑๐ ครั้ง หรือ “สือเฉวียนอู่กง” และหนึ่งในนั้นคือสงครามปราบพม่า ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความเป็นความตายของอาณาจักรสยาม (ซึ่งจีนเรียกว่าเซียนหลัว) การปราบพม่าโดยราชวงศ์ชิง มีส่วนช่วยทำให้ทัพพม่าที่รุกรานสยามกลับไปพัวพันกับการศึกทางตอนเหนือ เปิดโอกาสให้สยามได้ตั้งตัวติดหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แต่ความรอดของสยาม คือความหายนะของราชวงศ์ชิง แม้ว่าการศึกใหญ่ทั้งสิบครั้งถือเป็นพระเกียรติยศของพระเจ้าเฉียนหลง แต่ทำให้ท้องพระคลังพินาศย่อยยับ สิ้นเปลืองงบประมาณไปถึง ๑๕๑ ล้านตำลึง
กอปรกับในรัชสมัยเฉียนหลง ทรงโปรดขุนนางกังฉินผู้หล่อเหลาที่ชื่อเหอเซิน ซึ่งฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างร้ายกาจ สั่งสมความมั่งคั่งเป็นเงินถึง ๑,๑๐๐ ล้านตำลึง หรือเท่ากับงบประมาณแผ่นดิน ๑๕ ปี ความล้มเหลวทางการคลังและการฉ้อราษฎร์บังหลวงเหล่านี้คือรากเหง้าอันชั่วร้ายที่บั่นทอนราชวงศ์ชิงหลังจากนั้น ในขณะที่การปกครองระส่ำระสายจากปัญหาทางการคลัง ประชากรจีนกลับเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์จาก ๑๐๐ ล้านคนก่อนรัชสมัยเฉียนหลง มาอยู่ที่ ๓๐๐ ล้านคน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน มีอายุขัยของประชากรจะมากขึ้นแต่ประชากรที่ล้นประเทศทำให้ความยากจนยิ่งทวีคูณ
ทว่า ทางการกลับเก็บภาษีหนักหน่วง กลายเป็นมูลเหตุของกบฎครั้งใหญ่ในรัชกาลเฉียนหลง นั่นคือ กบฎลัทธิบัวขาว (ชวนฉู่ไป๋เหลียนเจี้ยวฉี่อี้) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๓๓๙ – ๒๓๔๗ เกิดขึ้นที่มณฑลเสวฉวน (หรือแคว้นชวน) และมณฑลหูเป่ย (หรือแคว้นฉู่) แม้พวกกบฎจะมีการจัดองค์กรที่หละหลวม แต่เพราะราชสำนักชิงรับมือได้อย่างย่ำแย่ อีกทั้งยังรีดไถเข่นฆ่าประชาชนไม่เลือกหน้า ทำให้ความไม่พอใจต่อราชสำนักขยายวงกว้าง และส่งผลให้การปราบปรามกินเวลานานข้ามรัชกาล แม้จะจบลงด้วยการที่ฝ่ายกบฎล้มตายไปถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่ราชสำนักชิงก็อ่อนแอลงอย่างมากหลังจากนั้น
ลัทธิบัวขาว (ไป๋เหลียนเจี้ยว) เป็นความเชื่อทางศาสนาระดับมวลชน มีแนวคิดที่ผสมผสานกันระหว่างการแสวงหาโลกพระศรีอาริย์หรือดินแดนในอุดมคติที่ไร้ความทุกข์และความยากจน ผสมกับขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิงที่มีอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” (ฝ่านชิง ฟู่หมิง) กบฎบัวขาวเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มโค่นชิงฟื้นหมิงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นมา แม้จะถูกปราบลงในที่สุด แต่ทำให้ขบวนการโค่นชิงฟื้นหมิงกลับมาคึกคักอีกครั้ง…”
#ราชวงศ์ชิง #จีน #สงคราม