ตรวจดวงพระชตา พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป
ถ้าจะกล่าวถึงศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความเก่าแก่และสำคัญอย่างมากทั้งในประเทศไทย รวมถึงทั้งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นั่นก็คือ “โหราศาสตร์” เนื่องด้วยมนุษยชาตินั้นอยู่ร่วมกับธรรมชาติมาอย่างยาวนานหลายพันหลายหมื่นปี การสังเกตการณ์ดูดวงดาวหรือสภาพอากาศ เดือนปี เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่จะอำนวยให้การดำเนินชีวิตเป้นไปได้ดีที่สุด ทั้งการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หาอาหาร ตลอดไปจนถึงการสร้างบ้านสร้างเมือง จนไปถึงการบวงสรวงให้แก่เทพเจ้า และการแต่งตั้งตำแหน่งของชนชั้นปกครอง ฯลฯ จึงทำให้ “โหราศาสตร์” เป็นสิ่งที่สำคัญและอยู่ควบคู่กับมนุษย์บนโลกไปนี้มาอย่างยาวนาน
สำหรับ”โหราศาสตร์” ในประเทศไทยนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อคนทุกชนชั้น ตั้งแต่รากหญ้าประชาชนทั่วไปจนถึงในราชสำนัก โดยมีความสำคัญนอกจากจะเป็นใช้ในการตรวจดวงชะตา หาทางแก้ หรือที่พึ่งทางใจแล้ว ธรรมเนียมในราชสำนักยังให้ความสำคัญกับเรื่องโหราศาสตร์ มีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ “โหราศาสตร์” ถึงระดับกรมกอง มีขุนนางในสังกัด ดังจะเห็นได้จากทำเนียบกรมโหรหลวง ที่สังกัดทั้งพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง [1]ยกตัวอย่าง เช่น
กรมโหร
หลวงญาณเวท เจ้ากรมโหรหน้า ศักดินา ๑๕๐๐
หลวงไตรเพทวิสัย เจ้ากรมโหรหลัง ศักดินา ๘๐๐
ขุนโลกย์พรหมา ปลัดกรมโหรหน้า ศักดินา ๔๐๐
ขุนโลกย์พยากรณ์ ปลัดกรมโหรหลัง ศักดินา ๔๐๐
ซึ่งหน้าที่หลักของ กรมโหรหลวง นอกจากจะตรวจหาฤกษ์ดวงพระชตาของพระมหากษัตริย์ เจ้านายและเชื้อพระวงศ์แล้ว ยังมีหน้าตรวจหาฤกษ์ยามที่ดีในการประกอบพระราชพิธีหรือการเสด็จพระราชดำเนินในคราวต่างๆ ซึ่งนับได้ว่า กรมโหรหลวงมีความสำคัญต่อราชสำนักไม่มากก็น้อย
โดยในครั้งหนึ่ง ราวปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นปีที่พระราชกุมารอเล็กซิส พระราชโอรสของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ได้ประสูติ และในช่วงเวลานั้นได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองในประเทศรัสเซียอย่างยิ่งใหญ่ พระยาศรีธรรมสาสน (ทองดี สุวรรณศิริ) อัครราชทูตไทยที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก็ได้มีโทรเลขเข้ามากราบบังคมทูลแก่รัชกาลที่ ๕ ให้ทราบ ซึ่งก็ได้มีพระราชโทรเลขแสดงความยินดีไปยังราชสำนักรัสเซียโดยทันที
ภายหลังที่รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงรับรายงานละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาประสูติขององค์มกุฎราชกุมารอเล็กซิสที่อัครราชทูตไทยส่งมาถวาย พระองค์ได้มีพระราชกระแสให้กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ “สอบวันแลเวลาประสูตรตรงกับวันเรา ส่งไปให้โลกทีปผูกดวงดูสักที…” แต่ในท้ายที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้โปรดให้ส่งคำทำนายนี้ไปถวายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แต่อย่างไร เพียงแต่มีรับสั่งถึงกรมราชเลขานุการ “ให้หลวงประสิทธิ์ดู แล้วหาที่เก็บไว้ให้ดี” เท่านั้น
นอกจากนี้ยังปรากฏการผูกดวงชตาของพระเจ้าแผ่นดินยุโรปอีกหลายพระองค์โดยกรมโหรหลวง ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้ข้อมูลวันและเวลาประสูติของแต่ละพระองค์ ที่พบใน หัวเรื่อง ”ดวงชตาพระเจ้าแผ่นดินต่าง ๆ ในประเทศยุโรป จากหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ ๕๘ เดือนกรกฎาคม ร.ศ.๑๑๘” [2]โดยทรงได้รับข้อมูลจากอัครราชทูตไทยส่งมาถวายบ้าง หรือราชทูตจากประเทศนั้นๆส่งถวายบ้าง เพื่อพระองค์สามารถส่งคำอวยพรไปถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินยุโรป บางทีจะเป็นการผูกดวงชตาเพื่อดูดวงชตาของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ว่า ต้องกันกับพระองค์หรือไม่ นับว่ากรมโหรหลวงนั้นมีการทำงานที่มีผลต่อพระราชภารกิจทางการเมืองด้วยเช่นกัน
พระนามแลนามผู้ครองเมืองต่างๆในประเทศยุโรป
ประเทศอังกฤษ พระนาม กวินวิกโตเรีย ประสูตร วันที่ ๒๔ เดือนเม คฤศตศักราช ๑๑๘๑๙ ตรงกับเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๓๘ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๒๐ เดือนยุม,คฤศตศักราช ๑๘๓๗ ตรงกับเดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๕๖
ประเทศรีปับลิกฝรั่งเศส นาม ม,เฟลิก ฟอเร เกิดวันที่ ๓๑ เดือนยันนุเอรี คฤศตศักราช ๑๘๔๑ ตรงกับเดือนมกราคม รัตนโกสินทรศก ๖๐ รับตำแหน่งปธานาธิบดี เดือนยันนุเอรี คฤศตศักราช ๑๘๙๕ ตรงกับเดือนมกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๔
ประเทศรัซเซีย พระนาม นิโคลัสที่ ๒ ประสูตร วันที่ ๑๘ เดือนเม, คฤศตศักราช ๑๘๖๘ ตรงกับเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๘๗ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๑ เดือนโนเวมเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๙๔ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๓
ประเทศสเปน พระนาม อาลฟองโซ ที่ ๑๓ ประสูตร วันที่ ๑๗ เดือนเม, คฤตศักราช ๑๘๘๖ ตรงกับเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๕ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๑๘ เดือนเม คฤศตศักราช ๑๘๘๖ ตรงกับเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๕
ประเทศโปรตุคอล พระนาม คาโลซ์ที่ ๑ ประสูตร วันที่ ๒๘ เดือนเสบเตมเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๖๓ ตรงกับเดือนกันยายน รัตนโกสินทรศก ๘๒ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๑๙ เดือนออกโตเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๘๙ ตรงกับเดือนตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘
ประเทศปรูเซีย, เยอรมัน, พระนาม วิลเลียมที่ ๒ บรมราชาธิราช ประสูตร วันที่ ๒๗ เดือนยันนุเอรี คฤศตศักราช ๑๘๕๙ ตรงกับเดือนมกราคม รัตโกสินทรศก ๗๘ เสวยราชสมบัติวันที่ ๑๕ เดือนยูน คฤศตศักราช ๑๘๘๘ ตรงกับเดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๗
ประเทศนิเทอแลนด์ พระนาม วิลเฮลมินา ประสูตร วันที่ ๑๑ เดือนออคัศต์ คฤศตศํกราช ๑๘๘๐ ตรงกับเดือนสิงหามคม รัตนโกสินทรศก ๙๙ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๒๓ เดือนโนเวมเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๙๐ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙
ประเทศเดนมารก พระนาม คฤศเตียน ที่ ๙ ประสูตร วันที่ ๘ เดือนเอปริล คฤศตศักราช ๑๘๑๘ ตรงกับเดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๓๗ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๑๖ เดือนโนเวมเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๖๓ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๘๒
ประเทศออสเตรีย พระนาม แฟรนซิสโยเสฟ ประสูตร วันที่ ๑๘ เดือนออกัศต์ คฤศตศักราช ๑๘๓๐ ตรงกับเดือนสิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๔๙ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๒ เดือนดีเซมเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๔๗ ตรงกับเดือนธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๖๗
ประเทศโปปิคำ พระนาม ลิโอ ที่ ๑๓ ประสูตร วันที่ ๒ เดือนมาซ คฤศตศักราช ๑๘๑๐ ตรงกับเดือนมีนาคม รัตนโกสินทรศก ๒๙ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๒๐ เดือนเฟบยุเอรี คฤศตศักราช ๑๘๒๘ ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๙๘
ประเทศอิตาลี พระนาม ฮัมเบิด ประสูตร วันที่ ๑๔ เดือนมาซ คฤศตศักราช ๑๘๔๔ ตรงกับเดือนมีนาคม รัตนโกสินทรศก ๖๓ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๙ เดือนยันนุเอรี คฤศตศักราช ๑๘๗๘ ตรงกับเดือนมกราคม รัตนโกสินทรศก ๙๘
ประเทศออตตุมันเอมไปร์ พระนาม อับดุลฮาเมด ประสูตร วันที่ ๒๒ เดือนเสบเทมเบอร์ คฤศตศักราช ๑๘๔๒ ตรงกับเดือนกันยายน รัตนโกสิน ทรศก ๖๑ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๓๑ เดือนออคัศ คฤศตศักราช ๑๘๗๖ ตรงกับเดือนสิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๙๕
ประเทศบาวาเรีย พระนาม ออตโต ประสูตร วันที่ ๒๘ เดือนเอปริล คฤศตศักราช ๑๘๔๘ ตรงกับเดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๖๗ เสวยราชสมบัติ วันที่ ๑๓ เดือนยูน คฤศตศักราช ๑๘๘๖
ดวงชตาพระเจ้าแผ่นดินต่างๆในยุโรป
กวินวิกโยเรีย บรมราชีนีกรุงอังกฤษ แลบรมราชาธิราชีนีแห่งประเทศอินเดีย ประสูติที่พระราชวังเกนซิงดอล เมื่อวันที่ ๒๔ เดือนพฤษภาคม ปี ๑๘๑๙ ตรงกับจุลศักราช ๑๓๘๓ ปีเถาะเอกศก เวลาตี ๔ ทุ่มกับ ๑๕ มินิต แต่เที่ยงคืนมา คือ ๑๐ทุ่ม
ซิลเตอร์แลไตม์ ฤานาฬิกาดาว ในเที่ยงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ปี ๑๘๙๓๙ มี ๔ โมง ๑มินิต ๓ สกันครึ่ง บวกกับเวลากำเนิดตั้งแต่เที่ยงวันมาจนถึงเวลาเกิด ได้ ๑๖ โมง ๑๕ มินิต แลบวกกับเวลาอาทิตย์กับเวลาดาวที่ผิดกันอิก ๒มินิต ๔๐ สกันครึ่ง รวมเปนเวลาเมอรีเดียนกำเนิดฤาลักขณา ๒๐โมง ๑๘ มินิต ๔๑ สกัน เศษ ๔
…………………………………..
มีคำพยากรณ์ว่า ด้วยอำนาจพระอาทิตย์ พระจันทรกุมลักขณาพฤหัศบดีเปนหลักเที่ยงของชาตา แลเปนเซกไตล์กับอังคาร พระนางเจ้ากวินวิกโตเรียจึงมีพระชนมายุยืนนานแลเจริญพระเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง
พระองค์ได้เถลิงราชสมบัติกรุงอังกฤษแทนพระเจ้าลุงวิลเลียมที่ ๔ ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนยูน ปี คฤศตศักราช ๑๘๓๗ ตรงกับเดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๕๖ พระเคราะห์จรนั้นเมื่อพระเคราะห์ให้คุณในองษาที่ ๑๘ คืออาทิตย์ร่วมราศีลักขณองษา ๑๘ จันทรเปน ๑๔๔ องษากับสูญ ชาตาแลเปนเซกไตล์กับพุฒ
น่า ๙๒๔
ซาสมเด็จพระบรมราชาธิราชกรุงรัซเซีย ประสูติที่ตำบลเซนต์ปีเตอสเบิ๊ก เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนเม คือเดือนพฤษภาคม คฤศตศักราช ๑๘๖๘ เวลาใกล้เที่ยง พระอาทิตย์อยู่ราษีพฤศก มีองษา ๒๗ ลิปดา ๔๒ พระจันทรอยู่ราศีเมศ องษา ๙ ลิปดา ๒๒ พระพุฒอยู่ราศีเมถุนองษา ๑ ลิปดา ๑๖ พระศุกรอยู่ราษีกรกฏองษา ๑๒ ลิปดา ๓๘ พระอังคารอยู่ราศีเมศ องษา ๒๗ ลิปดา ๔๙ พระพฤหัศอยู่ราศี เมศองษา ๕ ลิปดา ๕๔ พระเสารอยู่ราศีธนู องษา ๒ ลิปดา ๔๖ พระราหูอยู่ราศี องษา ๑๐ ลิปดา ๒๙ พระเกตุอยู่ราศีเมศ องษา ๑๖ ลิปดา ๒๙ พระลักขณาอยู่ราศีสิงห์
จันทรอยู่ใกล้กับพฤหัศบดี เปนคนใจดีมีศุขพุฒเลงกับเสาร์ ความวินิจฉัยมักพลาด อาทิตย์อยู่ใกล้กับพุฒเลงกับเสาร์เปนโกฏิกับจันทรแลราหู จึงได้ผ่านราชสมบัติ ถ้าเวลาประสูติก่อนเที่ยงมักจะมีเหตุร้านในการสงคราม สมเด็จพระเจ้าซากับพระเจ้าไกเซอกรุงเยอรมัน มีอาทิตยเลงกับเสาร์ จันทรคุมกับราหู อาทิตย์ของพระเจ้าซาเลงจันทรของพระเจ้าไกเซอ ท่านคู่นี้ชาตาเปนสัตรูแก่กัน แต่ดวงท่านซาดีกว่าท่านไกเซอร์
และสำหรับท่านใดที่สนใจอยากติดตามภาพถ่ายเก่า เอกสารโบราณ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอ่านสนุก ก็สามารถติดตามส่วนหนึ่งได้จากหนังสือชุด สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ และ ๒ Reminiscence of Rattanakosin Vol.1 – 2 (1851 – 1911)
หนังสือชุดที่รวบรวมภาพถ่ายและภาพพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๔ – ต้นรัชกาลที่ ๖ จำนวนกว่า ๘๐ ภาพ ในกรรมสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ ที่ได้นำมาวิเคราะห์เรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ และคลี่คลายเหตุการณ์เบื้องหลังภาพโบราณเหล่านั้นด้วยเอกสารชั้นต้น เจ้าของรางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)