เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าเฝ้าโป๊ป
การเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศในทวีปยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นอกจากวัตถุประสงค์หลักเพื่อสานสัมพันธไมตรีแก่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปแล้ว การได้พบปะกับชาวตะวันตกและได้รับรู้นโยบายของนานาประเทศถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตก็เป็นสิ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหล่าข้าราชบริพารผู้ติดตามได้ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้อยู่เสมอ เราจึงได้ทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวระหว่างการเดินทาง สภาพสังคม ภูมิประเทศของแต่ละประเทศ สถานที่ท่องเที่ยว อากัปกิริยาและสภาพนิสัยใจคอของชาวยุโรป ฯลฯ ตามที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรพบเห็น หรือเหล่าข้าราชบริพารติดตามได้สังเกตเห็นและจดบันทึกไว้ แล้วตีพิมพ์ให้คนไทยได้อ่านในเวลาต่อมาจาก ประมวลพระราชนิพนธ์ หรือจดหมายเหตุ เป็นต้น
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับลายพระหัตถ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่มีไปมาถึงกัน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่แสดงให้ผู้อ่านได้ทราบถึงการให้เกียรติกันในเรื่องลัทธิและความเชื่อในเรื่องการนับศาสนาระหว่างพระองค์และเหล่าพระมหากษัตริย์ชาติยุโรป ซึ่งเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่พระองค์ทรงวิเคราะห์ได้ละเอียดถี่ถ้วน และกระทำการได้โดยไม่กระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาตินั่นเอง ยกตัวอย่าง พระราชหัตถเลขาที่พระองค์ได้ทรงเขียนไปถวาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ว่า
(ฉบับที่ ๒๓)
เรือพระที่นั่งมหาจักรี ในทเลบัลติก
วันที่ ๒๑ เดือนกรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖
กราบทูล กรมหมื่นวชิรญาณให้ทรงทราบ
ด้วยหม่อมฉันได้รับหนังสือที่ประทานตอบมาที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม แต่พเอินที่ได้รับเปนเวลาอยู่ในระยะที่เขารับรองชุลมุนถึงกับไม่มีเวลาจะอ่าน โดยข้อความที่รับสั่งมานั้นเปนที่พอใจแล้ว แผนที่อินเดียครั้งพุทธกาลซึ่งทรงมอบให้กรมพระสมมตมานั้น เมื่อไปถึงเมืองอังกฤษจะได้เรียกมาเทียบทานดู ถ้าพอจะหาช่องให้นักปราชญ์ผู้รู้ช่วยเทียบทานได้ก็จะได้จัดไป แต่จะทูลสัญญาไม่ได้ เพราะเข็ดเรื่องหาเวลาว่างไม่มีเสียนักแล้ว
——— (เว้น) ———
การที่หม่อมฉันมาครั้งนี้ ก็นับว่ามีความศุขทุกประการทุกแห่ง ความปรารถนาอันใดที่มุ่งหมายในใจ ก็นับว่าเปนอันสำเร็จแล้วบ้างแลร่วมเข้าไปในทางข้างสำเร็จบ้าง ข่าวที่ทูลนี้ขอให้ทรงถือว่าเปนข่าวดีแต่อย่าให้ดีใจมากเกินไป นิ่งๆไว้ก่อน เพราะเวลาข้างน่ายังมีที่จะต้องทำ
จะต้องทูลสารภาพอย่างหนึ่งถึงเรื่องไปจูบมือโป๊ป ขอให้ทรงเข้าพระทัยว่าตั้งใจจูบมือคนแก่เท่านั้น เพราะเจ้าฝรั่งเขาจูบตีนกัน เจ้าฝรั่งที่ถือศาสนาลัทธิอื่นซึ่งนับว่าเปนปฏิปักษ์คู่วิวาทกัน เช่น เอมเปอเรอออฟเยอรมนี เปนต้น เขาอยากไปดูโป๊ปเขาก็ต้องยอมจูบมือ เราไม่ได้ วิวาดบาดทเลาะอันใดกัน จะไปจองหองค้ำอยู่คนเดียวมันก็น่าเกลียดแลจะขอซัดทูลกระหม่อมด้วย ว่าให้ทอดพระเนตรสำเนาพระราชสาสนที่เขาตีพิมพ์ติดท้ายระยะทางทูตไปเมืองฝรั่งเศส ก็จะทรงทราบได้ว่าท่านเคารพกันไว้เพียงใด หม่อมฉันก็ต้องเดินไปตามรอยนั้น แต่ว่าตามจริงโป๊ป เปนคนแก่ควรบูชา แลความประพฤติก็ตั้งอยู่ในสุจริต ประกอบไปด้วยมัทยัดแลสันโดฐ ดีกว่าพระลังกาบางพวกเปนอันมาก ในการที่ไปดูวัดดูวังก็ยอมให้ดูทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สุดจนมงกุฎซึ่งเจ้าแผ่นดินบางองค์ไม่ได้เห็นเลย หม่อมฉันขอดูก็ยอมให้จับลูบคลำได้ พระธาตุต่างๆของเขาที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็ยอมให้จับต้องพิจารณาดูถ้วนถี่ ไม่ห้ามหวงเหมือนพระทันตธาตุ
อักครั้งหนึ่งไปอยู่ในวังควารีนัลกับพระราชวงษกรุงอิตาลีเขาไปไหว้พระกันวันอาทิตย์ เวลากลับมาจากดูทหาร เขาชวนก็ต้องไปกับเขาด้วย ที่เขาชวนนั้นโดยเชขาเข้าใจว่าเราถือว่ามีผู้เปนใหญ่เปนประธานในโลกยอันเดียวกัน จะบอกว่าข้าไม่ไปยังไรได้ ได้เข้าไปแลได้ฟังเทศน์ แต่ก็ไปนิ่งๆไม่ต้องทำอะไร อิกครั้งหนึ่งไปที่ศพ อาชดุ๊กรุดอลฟ ราชโอรสเจ้ากรุงออสเตรีย เขาตั้งพระแท่นทรงกราบอย่างฝรั่งไว้ คือเปนราวสำหรับคุกเข่า สำหรับสวดอ้อนวอนให้แก่ศพ เวลานั้นมีแต่พวกเขาได้คุกเข่าให้แต่ไม่ได้ว่ากระไร อีกครั้งหนึ่งที่พระศพพระเจ้าอเลกซันดรา ที่ ๓ พระราชบิดาของเอมเปอเรอออฟรัสเซีย ก็ได้ทำเช่นนั้นเหมือนกัน ทราบแล้วว่าไม่ทรงเคลือบแคลง แต่ดูก็เปนเรื่องชอบกลจึงทูลให้ทราบ
ควรมีควรแล้วแต่จะโปรด
จุฬาลงกรณ์ ป.ร.
และสำหรับท่านใดที่สนใจอยากติดตามภาพถ่ายเก่า เอกสารโบราณ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอ่านสนุก ก็สามารถติดตามส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเสด็จประพาสยุโรปของสมเด็จพระปิยมหาราช ได้จากหนังสือชุด สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ และ ๒ Reminiscence of Rattanakosin Vol.1 – 2 (1851 – 1911)
หนังสือชุดที่รวบรวมภาพถ่ายและภาพพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๔ – ต้นรัชกาลที่ ๖ จำนวนกว่า ๘๐ ภาพ ในกรรมสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ ที่ได้นำมาวิเคราะห์เรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ และคลี่คลายเหตุการณ์เบื้องหลังภาพโบราณเหล่านั้นด้วยเอกสารชั้นต้น เจ้าของรางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)