การแต้มป้าย เปนธรรมเนียมของชนชาติจีน ซึ่งเปนู้นับถือบรรพบุรุษย์เปนที่พึ่ง
เพราะเขาถือว่าการที่บูชา เส้นสรวงบรรพบุรุษย์ เปนข้อสำคัญที่จะแสดงให้ชนทั้งปวงเปนที่นับถือ
ว่าเปนคนดีแลถือว่าเปนความเจิญแก่ตัวได้จริง…”
เรื่อง, ภาพ สำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์
ชาวจีนนั้นจะมีช่วงเวลาของการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ อย่างใหญ่โต ๒ ครั้งในรอบปี คือพิธีไหว้ในวันตรุษจีน และพิธีไหว้ในวันสารทจีนอีกครั้งหนึ่ง
การไหว้บรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้เลี้ยงลูกหลานและให้การศึกษาอบรมเป็นอย่างดี เพื่อตอบแทนบุญคุณและระลึกถึงจึงจัดพิธีนี้ขึ้น และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกลได้พบปะสังสรรค์กันสร้างความสนิทสนมกลมเกลียวกันนั่นเอง โดยชาวไทยเชื้อสายจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยนั้น ยังคงสืบทอดธรรมเนียมแสดงความความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษไว้อย่างเหนียวแน่น จึงเกิดธรรมเนียมการแต้มป้ายชื่อ หรือ ‘เกสิน’ ที่หมายถึง การเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาสถิตยังป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการี ที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน พร้อมเซ่นสรวงในวาระสำคัญต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติต่อไปในภายภาคหน้า
ธรรมเนียมของชาวจีนอันดีงามนี้เอง ได้กลายเป็นที่มาของพระราชพิธีสำคัญในช่วงตรุษจีนอย่าง “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย”
“การแต้มป้ายตามพิธีจีน” และ “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย” เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ดังรายละเอียดที่เขียนขึ้นในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗ ตอนที่ ๓๗ หน้า ๓๒๔ วันที่ ๑๔ ธันวาคม จุลศักราช ๑๘๙๐ ว่า
“…ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า การแต้มป้าย เปนธรรมเนียมของชนชาติจีน ซึ่งเปนผู้นับถือบรรพบุรุษย์เปนที่พึ่ง เพราะเขาถือว่าการที่บูชา เส้นสรวงบรรพบุรุษย์ เปนข้อสำคัญ ที่จะแสดงให้ชนทั้งปวงเปนที่นับถือว่าเปนคนดี แลถือว่าเปนความเจริญแก่ตัวได้จริงด้วย แลการแต้มป้าย ซึ่งเปนการหลวงนั้นก็ได้เคยมีมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตครั้งหนึ่ง ครั้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตก็ได้มีอีกครั้งหนึ่ง”
ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการจัดพระราชพิธีสังเวยพระป้าย
“…โดยโปรดเกล้าฯให้มีการพระราชกุศลเปนส่วนพิเศษกว่าที่เคยมีมาแล้วคือแต้มพระป้ายพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ากับพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ณ พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยแล้ว
จึงได้โปรดให้เชิญพระป้ายทั้ง๒ นั้น ขึ้นไปพระราชวังบางปอินแล้วเจ้าพนักงานจึงได้เชิญขึ้นประดิษฐานเหนือโต๊ะจีนซึ่งตั้งอยู่บนพระที่นั่งบัลลังก์ภายใต้พระมหาเสวตรฉัตร ณพระที่นั่งวโรภาศพิมานเพื่อจะได้ทีการพระราชกุศลอุทิศถวายเปนการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป”
ซึ่งกำหนดการดังนี้ ได้จัดกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีกำหนดการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือจะสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญก่อน ๑ วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จะสังเวยในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน
พระป้ายดังกล่าวมีอยู่ 2 ป้าย ป้ายแรกคือพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จารึกไว้เป็นภาษาจีน บนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง ขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง ๒ คู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลาย ลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ส่วนอีกแห่งนั้นเป็นพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทองมีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้งอยู่ ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธย ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน
เครื่องสังเวยจะเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง
กำหนดการพระราชพิธีนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง จะทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ และธูปหางปักที่เครื่องสังเวย พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เมื่อธูปที่เครื่องสังเวยหมดดอก เจ้าหน้าที่จึงถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดาไปปักในแจกันที่ใต้เครื่องบูชาพร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นอันเสร็จพิธี
เอกสารอ้างอิง
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗ ตอนที่ ๓๗ หน้า ๓๒๔ วันที่ ๑๔ ธันวาคม จุลศักราช ๑๘๙๐