พระมหาสมณวินิจฉัย
“กำหนดว่า ต้นโพธิ์เช่นไรเป็นรุกขเจดีย์ เช่นไรมิใช่ฯ”
สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประทับในมหาเถรสมาคม มีพระดำรัสว่า ในเวลาเสด็จทอดพระเนตร วัดมหานิกายในกรุงเทพฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นโพธิ์ขึ้นอยู่บนซุ้มประตู บนซุ้มหอระฆัง ที่กำแพงเป็นต้น ในบางวัดที่พระสงฆ์ยังไม่เจริญด้วยความรู้ ทรงสังเกตโดยอาการ จะว่าด้วยเจ้าวัดไม่เอาใจใส่ในการรักษาวัด ทอดธุระเสียทีเดียวก็ไม่เชิง ชะรอยจะรังเกียจว่าเป็นต้นโพธิ์ ขุดออกเสียจะเป็นการทำร้ายรุกขเจดีย์ ดังคนทั้งหลายเคยถือกันมา จึงตรัสถามก็ได้ความเหมือนเช่นนั้น การถือเช่นนั้นเพราะเข้าใจผิด ยังการก่อสร้างในวัดให้ชำรุดเสียหายไปแล้วก็มาก และยังกำลังทำอยู่บัดนี้ก็มี ท่านผู้สร้างบริจาคทรัพย์เป็นอันมาก สร้างหรือปฏิสังขรณ์วัดขึ้นก็เพื่อจะได้เป็นที่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เล่าเรียนปฏิบัติลั่งสอนสืบอายุพระพุทธศาสนา ถาวรวัตถุนั้นๆจะมาชำรุดหักพังไปเสีย เพราะปล่อยให้ต้นโพธิ์ขึ้น ด้วยความเข้าใจผิดอย่างนี้ ไม่บังควร จึงทรงปรึกษาด้วยพระมหาเถระทั้งหลาย ลงมติร่วมกันแล้วประทานพระมหาสมณวินิจฉัยไว้ ดังต่อไปนี้
๑. ในประถมสมโพธิกล่าวไว้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นไม้ชื่อ อัสสัตถะ ที่กล่าวว่า ต้นโพธิ์ วัดทั้งหลายจึงได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้เป็นเครื่องระลึกถึงประพฤติเหตุนั้น ต้นโพธิ์ที่ปลูกและทำนุบำรุงรักษาไว้ด้วยอาการอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเป็น รุกขเจดีย์ ที่พระอาจารย์ผู้รจนาปกรณ์ชื่อว่า จุลคัณฐี มหาวรรค ปรารภถึงต้นโพธิ์อันเที่ยวขึ้นอยู่เองบนของก่อสร้างบ้าง ที่พื้นดินบ้าง ที่เขาไม่ได้ยกย่องเชิดชู แม้จะสืบพันธุ์มาจากต้นอันเป็นรุกขเจดีย์ ด้วยพืชอันติดมาในมูลนกที่บริโภคผล หาเป็นรุกขเจดีย์ไม่ ต้นโพธิ์ชนิดนี้ พระคันภรจนาจารย์มอได้พูดปรากฏถึง
๒. การขุดตัดต้นโพธิ์อันมิได้เป็นรุกขเจดีย์ ไม่เป็นประทุษเจดีย์ ไม่มีบาป
๓. ต้นโพธิ์อันเป็นรุกขเจดีย์ จะตัดให้ตาย เพื่อจะเอาที่ปลูกสร้างของอย่างอื่น ท่านห้าม
๔. ตัดให้ไม่ตาย บางอย่างท่านอนุมัติ พึงรู้ดังนี้
ก. ตัดกิ่งอันเบียนพระสถูปพระปฏิมาและเรือนพระปฏิมาก็ดี ตัดกิ่งอันยื่นอยู่ข้างบน ที่นกกามาจับถ่ายเว็จลงพระเจดีย์ก็ดี ตัดรากอันชอนเข้าไปในสถานแห่งพระเจดีย์ก็ดี ท่านอนุมัติ เหตุว่า ปูชนียวัตถุเหล่านั้นเป็นใหญ่กว่ารุกขเจดีย์
ข. ตัดเพื่อจะแต่งให้ดี เช่น ตัดกิ่งอันเกินต้องการ ที่จะนำโอชาของต้นไม้ไปเลี้ยงเสียเปล่าก็ดี ตัดอวัยวะอันผุก็ดี ท่านว่าทำได้
ค. โดยนัยนี้ ตอนแล้วตัดกิ่งไปเพื่อจะปลูกเป็นรุกขเจดีย์ในที่อื่น ก็ทำได้ มีตัวอย่าง พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงตอนกิ่งต้นโพธิ์ที่ว่าเป็นต้นเดิม ส่งไปปลูกที่เกาะลังกา
๕. ตัดไม่ให้ตาย ที่ท่านห้าม พึงรู้ดังนี้
ก. กิ่งเบียนเรือนพระมหาโพธิ์ จะตัดกิ่งนั้นเสียเพื่อจะรักษาเรือนนั้นไว้ ท่านห้ามว่ามิควรทำ เหตุว่าเรือนนั้นสร้างขึ้นสำหรับต้นโพธิ์ไม่ใช่ปลูกต้นโพธิ์สำหรับเรือน พึงรู้อธิบายว่า รากโพธิ์เบ่งฐานแตกออกไป เช่นนี้จะตัดรากเสีย ไม่ชอบ ทำเข้าต้นโพธิ์นั้นอาจเฉาหรือตายเสียก็ได้ ก่อฐานใหม่ขยายออกไปดีกว่า ต้นโพธิ์จะได้เจริญไพศาล ความหมายก็จะบำรุงต้นโพธิ์ ก่อฐานก็เพื่อเป็นเครื่องประดับต้นโพธิ์ให้เห็นว่าเป็นรุกขเจดีย์
ข. กิ่งอันเบียนอาสนศาลาหรือที่เรียกกันว่าการเปรียญในบัดนี้ ท่านว่าพึงรู้ดุจกัน คำนี้พึงเห็นว่า ท่านกล่าวด้วยสามารถ ถนอมต้นไม้ใหญ่กว่าโรง จะชักตัวอย่างให้เห็นชัดที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ มีมะขามต้นหนึ่งเบียดพลับพลาเปลื้องเครื่องอยู่ เดิมทีต้นมะขามคงขึ้นอยู่ก่อน แต่ยังไม่โต พลับพลาสร้างขึ้นภายหลัง ต้นมะขามนั้นโตขึ้น เบียดพลับพลาเข้าไปทุกที จนต้องแหวะชายคา ต้นมะขามก็ไม่ใช่รุกขเจดีย์ แต่เราเห็นว่าต้นไม้ใหญ่ กว่าจะเป็นมาได้ช้า ตัดเสียแล้ว หวนต้องการอีกปลูกไม่ได้ทันใจ ส่วนของก่อสร้าง มีทรัพย์อาจทำใหม่ได้ เราจึงทำในใจไว้ว่าจะย้ายพลับพลา ดีกว่าตัดต้นมะขาม ถ้าโรงในครั้งนั้นเป็นแต่เครื่องผูกก็ไม่น่าเสียดายเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ดีท่านได้กล่าวผ่อนอันไว้ให้แล้วว่า จะตัดกิ่งที่เกินต้องการเพื่อจะแต่งให้ดีได้อยู่ กิ่งที่ยื่นออกมาเช่นนั้น ก็เป็นกิ่งที่เกินต้องการ ควรจะตัดแต่งได้ เว้นไว้แต่กิ่งในปริมณฑล ที่ตัดเสียแล้ว ลำต้นจะขาดกำลังทานและจะล้ม เช่นนี้ไม่ควรตัด พึงรู้จักว่า กิ่งเช่นไรควรตัดได้ กิ่งเช่นไรไม่ควรตัด
๖. ต้นไม้อื่น ที่ว่าสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จประทับ และในบางวัดได้ปลูกและรักษาเป็นรุกขเจดีย์ คือต้นนิโครธที่เข้าใจว่าไทรใบใหญ่ ต้นมุจลินทร์ ที่แลว่าต้นจิก และต้นราชายตนะ ที่แปลว่าต้นเกต เป็นรุกขเจดีย์ใช่หรือมิใช่ พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในต้นโพธิ์ แต่ต้นไม้เหล่านี้ ไม่ได้ถือกันอย่างต้นโพธิ์ ถือแต่พอดีดังกล่าวมาเป็นการสมควรแล้ว
วินิจฉัยให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗
(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส