รับเสด็จ เจ้าชายวิตโตริโอ เอมานูเอเล
แห่งซาวอยา – ออสตาอินฟานเตแห่งสเปน
เคานต์แห่งตูริน
พุทธศักราช ๒๔๔๑ ประชาชนชาวสยามได้มีโอกาสรับเสด็จเชื้อพระวงศ์แห่งทวีปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าชายวิคโตริโอ เอมานูเอเล แห่งราชวงศ์ซาวอยา (House of Savoy) หรือพระเจ้าหลานเธอกรุงอิตาลี ซึ่งเป็นพระยศที่หน่วยราชการสยามกล่าวเรียกพระนามไว้ในประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งราชอาณาจักรสยามนั้น เป็น ๑ ในที่หมายของการเดินทางเสด็จเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับประเทศ ระหว่างราชอาณาจักรอิตาลีกับเหล่ามิตรประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จักรวรรดิญี่ปุ่น และจักรวรรดิต้าชิง(จีน)
เคานต์ ออฟ ตูริน คือใคร
เจ้าชายวิตโตริโอ เอมานูเอเล เป็นพระราชโอรสใน เจ้าชายอะมาเดโอ ดยุคแห่งออสตา (ราชวงศ์ซาวอยา) ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์สมบัติแผ่นดินสเปน เป็นพระเจ้าอามาเดโอที่ ๑ แห่งสเปน และ มารีอา วิตโตเรีย ดัล ปอซโซ ดัสเชสแห่งออสตา และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าวิตโตริโอ เอมานูเอเล ที่ ๒ แห่งอิตาลี และ อาร์คดัสเชส มารีอา แอดิเลด แห่งออสเตรีย ด้วยความเป็นพระราชนัดดาองค์โต ทำให้ทรงอยู่ในสถานะของผู้ที่มีสิทธิจะที่ได้ราชสมบัติกรุงอิตาลีต่อจากพระอัยกาเช่นกัน แต่สิทธินี้ก็ตกไปสู่ พระเจ้าอุมแบร์โต ที่ ๑ พระปิตุลาของพระองค์แทน โดยภายหลังจากสำเร็จการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการทหารมิลาน จนสำเร็จการศึกษา ได้รับตำแหน่งเป็นตัวแทนของพระเจ้าอุมแบร์โต ที่ ๑ แห่งอิตาลี เดินทางรอบโลกเพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ภายหลังได้กลับเข้ารับราชการทหาร ในตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารม้าอิตาลี
โดยเป้าหมายของการเสด็จเยือนกรุงสยามในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายวิคโตริโอ นอกจากจะเป็น การกระชับความสัมพันธ์ระดับประเทศแล้วยังถือเป็นการเสด็จเยือนตอบ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปเป็นการส่วนพระองค์เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๔๐ โดยครั้งนั้น ผู้แทนพระองค์พระเจ้ากรุงอิตาลี ประชาชนและข้าราชการเมืองต่างๆ เช่น เมืองนาโปลี หรือเนเปิลส์, ซานเรโม, ตูริน, เวนิส, ฟลอเรนซ์, มิลานและกรุงโรมได้รับเสด็จพระองค์ได้อย่างดี จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
โปรแกรมการเดินทางในสยาม
การเสด็จเยือนสยามของเจ้าชายวิคโตริโอในครั้งนี้มีการเตรียมการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ อาจจะเทียบเท่าได้เหมือนกับครั้งรับเสด็จ จักรพรรดินิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ ซาเรวิชนิโคลัส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๓๔ หรือ ค.ศ.๑๘๙๑ โดยโปรแกรมการเสด็จเยือนสยามของเจ้าชายวิคโตริโอ เอมานูเอเล พร้อมผู้ติดตาม เคานต์ ออฟ คาเปเนโต ราชองครักษ์ ฯลฯ ใช้เวลาทั้งหมด ๑๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๑ จนถึง วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๑ พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร, พระราชวังบางปะอิน มณฑลกรุงเก่าและที่ประทับชั่วคราวตำบลปากเพรียว ซึ่งกระทรวงโยธาธิการจัดถวาย
สำหรับโปรแกรมการเสด็จเยือนสยามในครั้งนี้ นอกจาก เจ้าชายวิคโตริโอ พร้อมคณะจะได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมพิธีการจัดเลี้ยงอันยิ่งใหญ่ตามพระราชธรรมเนียมในวังหลวงแล้ว เจ้าชายวิคโตริโอ ยังได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และพระศพพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่บ้านเรือนโดยรอบพระนคร เช่น ได้ขึ้นชมพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ, วัดสุทัศน์เทพวรารามและโรงเรียนนายร้อยทหารบก. ทรงได้เสด็จเยี่ยมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ณ มหามกุฎราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดพระเชตุพนฯ และวัดอรุณราชวราราม เป็นต้น
นอกจากโปรแกรมภายในพระนครแล้ว เจ้าชายวิคโตริโอ ได้นั่งรถไฟขบวนพิเศษไปพระราชวังบางปะอิน เพื่อเสด็จไปเยี่ยมสถานที่สำคัญต่างๆในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา(มณฑลกรุงเก่า) เช่น วังจันทรเกษม, เพนียดคล้องช้างและวัดพนัญเชิงแล้ว ยังได้เสด็จเยี่ยมชมในพื้นที่เกษตรกรรมและระบบการชลประทานของราชการที่เพิ่งจัดสร้างเพื่อการพัฒนาประเทศในตำบลปากเพรียวและแขวงมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีอีกด้วย โดยจากการสังเกตโปรแกรมในครั้งนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มณฑลกรุงเก่าและพระราชวังบางปะอินถือเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง นอกจากพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานครที่ใช้เป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะหรือแขกเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากความใหญ่โตและสวยงามของพระราชวังบางปะอินแล้ว อาจเพราะเป็นอยุธยานั้น ถือเป็นสถานที่สำคัญซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของชาวสยาม มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์สำคัญของชาวสยามที่พอจะบอกเล่าให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมให้เห็นได้อย่างชัดเจนนั่นเอง
การรับเสด็จ เจ้าชายวิคโตริโอ เอมานูเอเล เคานต์ ออฟ ตูริน นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์อีกขั้นหนึ่งระหว่างพระราชวงศ์แห่งกรุงสยามและพระราชวงศ์แห่งกรุงอิตาลี แม้ราชอาณาจักรอิตาลีในช่วงเวลานั้นยังมิได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอย่างเต็มตัวหลังจากเพิ่งรวมประเทศได้เพียง ๓๗ ปี แต่หลายประเทศในยุโรปยังคงหวั่นเกรงราชอาณาจักรอิตาลีอยู่หลายเรื่อง ทั้งระบบเศรษฐกิจและการเกษตรกรรมที่เริ่มมั่นคง, ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังก้าวหน้า ซึ่งหลายๆประเทศยังต้องพึ่งพาอิตาลีในหลายๆด้านนี้ ซึ่งราชอาณาจักรสยามก็สามารถนำความสัมพันธอันดีต่อกันนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อตัวของสยามเองในอนาคตอีกด้วยเมื่อมหาสงครามโลกครั้งแรกอุบัติขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๑๔ หรือ ปี พ.ศ.๒๔๕๗