เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เตรียมยกทัพปราบฮ่อ
จากภาพด้านบน : เป็นตราประจำตัวเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เป็นตราดุนสีรูปกลม ขอบตรามีรัศมีแฉก ภายในมี อักษรนาม พ ประดับดอกลิลลี่ (Fleur-de-lis) และรูปงูคาบกระบี่ หมายถึงปีเกิดคือปีมะเส็ง อนึ่ง ได้บังคับบัญชากรมทหารหน้า ซึ่งเป็นหน่วยทหารฝึกหัดอย่างยุโรปในรัชกาลที่ ๔ พื้นตราเป็นรูปแผนที่ มีข้อความภาษาอังกฤษว่า “GULF OF SIAM”
ภาพและข้อมูลจากหนังสือสมุดตราสะสม เจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ ๕
นอกจากพิธีตั้งโขลนทวารและพิธีตัดไม้ข่มนามก่อนการยกทัพออกจากเมือง ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่คนทั่วไปเคยได้ยินบ่อยๆแล้ว พิธีพราหมณ์และศาสนาพุทธที่เกี่ยวข้องกับการยกทัพนั้น ยังมีอีกมากมายค่อนข้างจะที่จะละเอียดซับซ้อน รวมถึงภายหลังเมื่อเวลาเลยไปการยกทัพกระทำศึกได้ห่างหายไปจากประวัติศาสตร์ไทยไปอย่างยาวนาน เกือบ ๑๐๐ ปี ดังนั้นองค์ความรู้และตำรับตำราที่เกี่ยวข้องกับการยกทัพจึงได้สูญหายไป แต่ก็ยังมีการจดบันทึกถึงการทำสงครามเพื่อรักษาพระราชอาณาเขตเอาไว้เป็นครั้งท้าย ๆ เกี่ยวกับการเดินทัพในสงครามปราบฮ่อ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๐๘ – ๒๔๓๓

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพุทธศักราช ๒๔๑๗ ฮ่อธงเหลือง* เข้ามาปล้นสะดมในเขตสิบสองจุไท, หัวพันห้าทั้งหก และเมืองพวน* เมื่อทำการปล้นสะดมแล้วได้แบ่งกองทัพ ให้กองทัพหนึ่งนำโดยลิวสิกอ ทรัพกอ ฟาลองกอ ซินซือเหยียงไปตีเมืองหนองคายประมาณ ๕๐๐ คน กองทัพหนึ่งนำโดยกวานหลวงไปตีหลวงพระบางประมาณ ๖๐๐ คน ให้ปักอึงโกอยู่รักษาทุ่งเชียงคำ (ปัจจุบันคือทุ่งไหหิน) กรมการเมืองหนองคายได้ทราบความจากพวกท้าวขุนเมืองพวนที่แตกหนีเข้ามาเมืองหนองคาย จึงบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ถึงพร้อมกับใบบอกเจ้านครหลวงพระบาง ขณะนั้นพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงขึ้นไปสักเลขอยู่ในมณฑลอุบล จึงโปรดฯ ให้พระยามหาอำมาตย์เกณฑ์กำลังมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล เป็นกองทัพหนึ่ง ให้พระยานครราชสีมา (เมฆ) เกณฑ์กำลังนครราชสีมาเป็นกองทัพอีกทัพหนึ่ง ให้พระยามหาอำมาตย์เปนแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปป้องกันเมืองหนองคาย และโปรดฯ ให้เกณฑ์กำลังมณฑลพิษณุโลกให้พระยาพิชัย (ดิศ) คุมขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองหลวงพระบางอีกทัพหนึ่ง ฝ่ายทางกรุงเทพฯ โปรดฯ ให้เกณฑ์กำลังเข้ากองทัพ ให้เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายกเป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อทางเมืองหลวงพระบางทัพหนึ่ง โปรดฯ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อทางเมืองหนองคายทัพหนึ่ง
กล่าวถึง เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) นั้น อดีตเป็นข้าหลวงคนเก่าแก่อีกคนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่คอยดูแลรับใช้ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ จนกระทั่งขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็น พระบุรุษรัตนราชวัลลภ จางวางมหาดเล็ก เป็นสมุหพระสุรัสวดีที่บรรดาศักดิ์พระยาราชสุภาวดี และได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง

หนังสือ COURT ข่าวราชการ เจ้านาย ๑๑ พระองค์ ทรงช่วยกันแต่ง
โดย เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้ากรมพระสุรัสวดี ได้มีหน้าที่เป็นแม่ทัพในสงครามปราบฮ่อครั้งนี้ มีการบันทึกถึงการพิธีเตรียมการเอาฤกษ์เอาชัย ในการยกทัพของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงไว้ใน “หนังสือ COURT ข่าวราชการ เจ้านาย ๑๑ พระองค์ ทรงช่วยกันแต่ง” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่เจ้านาย ๑๑ พระองค์ช่วยกันแต่งขึ้น ซึ่งกล่าวถึงพิธีนั้นไว้ว่า
“…กองทัพเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ยกออกจากกรุงเทพมหานคร วันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ เวลาบ่ายสามโมง เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง รับประทานอาหารอิ่มแล้วจึงสวมเสื้อชั้นในขาว นุ่งผ้าสีน้ำเงิน แล้วก็ขึ้นบนเบญจานั่งลง ที่นั่งมีใบบัวรอง เท้าเหยียบใบบัวผินหน้าไปข้างทิศเหนือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงรดน้ำพระพุทธมนต์รดน้ำสังข์ ให้ใบละหุ่งกับใบไทรทัดหู ครั้นเสร็จแล้วขึ้นไปแต่งตัวที่ที่อันสมควร จึงนุ่งผ้าม่วงริ้วมะปรางมี่เขียวสวมเสื้อสักหลาดดำอย่างแม่ทัพ ติดเครื่องราชอิศริยยศสพายผ้าสีชมพู ติดตราจุลจอมเล้าแลตราจุลสุราภรณ์ มงกุฎสยามแลอื่นๆ สวมประคำทองลงยาข้างขอบฝั่งเพ็ชร ๑ สาย ตะกรุดทองสามสาย ลูกดิ่งทองคำ ๕ เมล็ดมรสาย ๑ สายรอบคอ แลมีสายสร้อยทองคำร้อยตลับพะบรมทนต์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย แลใส่แหวนนพเก้า ๑ คาดปรพคดสายดำห้อยกระบี่อย่างทหาร ใส่หมวกฮาลเม็ดพันแพรสีเหลืองมีภู่ผมม้าเปนยอด มือถือดาบสำหรับยศเจ้าพระยา เสร็จแล้วลงมานั่งที่เตียงหน้าหอนั่ง ถือดาบพาดตักบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ พร้อมด้วยนายทัพนายกองทั้งหลายเปนอันมาก คอยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ กับหลวงโลกทีปดูฤกษ์บนอยู่ พอเวลา ๓ โมงกับ ๑๕ นาทีได้ฤกษ์ พระอาทิตย์ปราศจากเมฆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศให้ลั่นฆ้องไชยเป่าสังข์กางสัปทนเปนฤกษ์ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงก็ชักดาบสำหรับยศเจ้าพระยาออกจากฝัก แล้วจึงแกว่งดาบย่างขึ้นไปข้างทิศเหนือเจ็ดเก้า กลับหน้าแกว่งดาบกั้นสัปทนเดินไปที่ท่าแล้วก็ลงเรือ แลในเวลานั้นมีพระสงฆ์พระราชาคณะแลถานานุกรมไปส่งด้วยเปนอันมาก พอลงเรือเสร็จแล้วก็สั่งให้โห่ขึ้นสามลา ลั่นฆ้องไชยเลื่อนเรือออกจากท่า พระยาพระหลวงขุนหมื่นนายทัพนายกองก็ลงเรือตามไปจนสิ้น คือ พระยามหานุภาพ ๑ พระยาพิไชยชาญฤทธิ ๑ พระยาวิชิตณรงค์ ๑ พระยาอภัยสงคราม ๑ พระชาติสุเรนทร ๑ พระพิบูลย์มไหศวรรย์ ๑ พระอภัยพลรบ ๑ พระไตรภพรณฤทธิ ๑ พระมนตรีบวร ๑ หลวงอาสาสำแดง ๑ หลวงภักดีชุมพล ๑ หลวงจัตุรงคโยธา ๑ หลวงทรงศักดา ๑ หลวงกิจจานุกิจ ๑ หลวงสุรินทรฤทธิ ๑ ขุนวิสูตรเสนี ๑ ขุนนราฤทธิไกร ๑ ขุนศรีกระดานพล ๑ ขุนพิไชยชาญยุทธ ๑ ขุนสกลสรบาล ๑ ขุนสิทธิสรเดช ๑ นายถมกอปราล ๑ นายกลึง ๑ นายนิน ๑ นายพลอย ๑ นายขาว ๑ นายทิม ๑ นายบุตร ๑ นายโต ๑ นายบัวกอปราล ๑ นายยาทหาร ๑ นายพึ่งกำนันซายัน ๑ นายเกตกอปราล ๑ นายแสงกอปราล ๑ แลกรมทหารหน้าที่ไม่ได้รับเครื่องยศในกองทัพอีกหลายคน
ครั้น เวลา ๓ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ พระตำหนักแพท่าราชวรดิษฐ ประทับในเรือพระที่นั่งใหญ่สองชั้นสำหรับประพาสเล่นนั้นแล้วเรือเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงก็มาจอดเทียบ ณ ที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานพรว่า ให้มีความชนะแก่ข้าศึก แลอย่าให้มีโรคภัยอันตรายดังนี้เปนต้น แลยังต่อยืดยาวไป ครั้นรับสั่งเสร็จแล้วก็พระราชทานนาฬิกาพกทองคำแลสายด้วย แลรับสั่งว่าให้เอานาฬิกานี้เปนที่รฦกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเถิด ดังนี้เปนต้น
ครั้นได้เวลาบ่าย ๓ โมง ๓๘ นาที ฤากว่าหน่อยหนึ่งก็เคลื่อนเรือจากที่นั้น แลขึ้นไปลอดโขลนทวารที่ตรงหน้าท่าขุนนาง โขลนทวารนั้นมีประตูป่าสานด้วยไม้ แลมีเรือกันยา ๒ ลำ ทอดสมอสองข้าง มีพระราชคณะฝ่ายวิปัสสนารามัญ ๕ องค์ ไทย ๕ องค์คอยประน้ำพระพุทธมนต์อยู่จนหมดกองทัพ ฝ่ายเรือพระยาพระหลวงขุนหมื่นนายทัพนายกองก็พายตามขึ้นมา ถวายทอดพระเนตรตามลำดับยศจนหมดกระบวรกองทัพเลยขึ้นไปลอดโขลนทวารทุกลำแล้ว ครั้นเวลา ๔ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น กองทัพก็ขึ้นไปตามลำน้ำจนถึงวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งได้เปนวัดของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงปฏิสังขรณ์ไว้ แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเกื้อกูลจนสำเร็จ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเห็นเปนวัดอันสมควรที่กองทัพจะพักได้ แล้วจึงได้พักกองทัพแรมอยู่ที่วัดนั้น ในเวลาที่ยกทัพนั้น พระบรมวงศานุวงศ ท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยได้มาประชุมส่งกองทัพพร้อมกันเปนอันมาก บ้างก็ตามขึ้นไปส่ง ณ วัดเขมาภิรตาราม จนเวลาอันสมควรจึงได้กลับมาจากที่นั้น ขอให้กองทัพที่ยกไปจงมีความสุขสวัสดิปราศจากภัยอันตรายทุกผู้ทุกนาย
โดย ภานุรังษี…”