การเมืองและเรื่อง ร.ศ.๑๑๒
ที่เราควรต้องเจ็บใจ?
เพิ่งจะผ่านพ้นวันที่ ๒๗ มิถุนายน ครบรอบ ๑๖๐ ปี เหตุการณ์คณะราชทูตสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการแด่พระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศสให้วัฒนาสถาพรต่อไป
ทว่าแสงแวววับและความงดงามของเครื่องมงคลราชบรรณาการทั้งสิ้นทั้งปวงเปล่านั้น ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ และหลายท่านที่ได้ทราบความทุกข์โทมนัสของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ พระราชโอรสของพระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช พระองค์ผู้ได้เจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้น จากคราววิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามต้องเฉือนเนื้อเถือหนังเอาตัวรอดจากลัทธิอาณานิคม ยอมเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสเพื่อรักษาอิสรภาพของบ้านเมืองไว้ ได้ขบคิดว่า
“เราส่งของอย่างดีไปเจริญสัมพันธไมตรี ไฉนจึงต้องมีชะตาเคราะห์จากจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สองด้วยเล่า ?”
บทความนี้จึงขอพาทุกท่านย้อนไปรับชมรับฟังเรื่องราวในคราวเจริญสัมพันธไมตรีสองแผ่นดินครานั้น และชวนขบคิดว่า พระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ผู้รับเครื่องมงคลราชบรรณาการ สมควรตกในข้อหาทรงกระทำการร้ายต่อกรุงสยามจริงหรือ ?
กรมพระคชบาลคือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เสาะหา จับช้างป่ามาฝึกหัด ดูแลรักษา เลี้ยงไว้ใช้ในราชการทั้งในยามปรกติและยามสงคราม ดังที่สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๓ อักษร ฉ-ต ฉบับราชบัณฑิตยสภา อธิบายไว้ว่า ‘กรมช้างหรือกรมพระคชบาล ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาได้ใน พ.ศ.๑๙๗๔ ได้ตำราคชศาสตร์และพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญวิชาช้างเข้ามาจำนวนมาก จนกระทั่งมีการชำระตำราช้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กรมช้างหรือกรมพระคชบาลมีกรมมย่อยในสังกัด ๘ กรม แต่ละกรมในสังกัดล้วนแต่มีหน้าที่เกี่ยวกับช้างหลวงทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่จะมารับหน้าที่กำกับราชการดูแลช้างต่างๆ ช้างหลวง อาจรวมไปถึงช้างเผือกคู่บารมีพระมหากษัตริย์ จึงต้องเป็นผู้ที่นอกจากจะรับใช้ใกล้ชิดแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้อย่างมาก เช่น บุคคลในวงศาคณาญาติ
เครื่องมงคลราชบรรณการในครั้งนั้น เป็นการส่งไปเจริญสัมพันธไมตรี “ตอบ” กรุงฝรั่งเศส
อาจจะเป็นเพราะการมองในมุมมองของเราเพียงอย่างเดียว จึงทำให้หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าเครื่องมงคลราชบรรณาการที่รัชกาลที่ ๔ ส่งไปยังกรุงฝรั่งเศสนั้น เป็นของ “ตอบไมตรี” กรุงฝรั่งเศส ที่ส่งเมอซิเออร์ เดอมองติญี (Monsieur Charles de Montigny) เป็นราชทูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทย โดยยึดถือแนวทางการทำสัญญาเช่นเดียว กับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ เมื่อการลงนามสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้โปรดฯ ให้ส่งคณะราชทูตสยามไปพร้อมกับเครื่องมงคลราชบรรณาการพระราชทานตอบ ซึ่งก่อนหน้าทางฝรั่งเศสก็ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายแล้ว ดังความปรากฏใน “พระราชสาส์นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม พระราชทานไปยังกรุงฝรั่งเศส ปี จ.ศ. ๑๒๑๘ (พ.ศ. ๒๓๙๙)” ความว่า
“…พระราชสาส์นในสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ขอคำนับเจริญทางพระราชไมตรี มายังสำนักพระเจ้านโปเลยอนที่สาม อัมเปรอผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในพระราชอาณาจักรกรุงฝรั่งเศสให้ทรงทราบ
ด้วยในเดือน ๘ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก ปีที่ ๖ ในรัชกาลอันเป็นปัจจุบันนี้ มองซิเออชาเลศเดมองติคนี เป็นราชทูตมาด้วยกำปั่นรบของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสด้วยหนังสือสำคัญของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เป็นที่เชื่อถือมาว่ากล่าวจัดแจงสัญญาการไมตรีแลการค้าขายคืนต่อกับการซึ่งได้เป็นแล้วแต่หลัง ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระเจ้ากรุงลพบุรีโน้น
มองติคนีทูตฝรั่งเศสมาขอให้กรุงสยามให้อิสรานุภาพแก่ขุนนางบางนาย ออกไปคิดอ่านปรึกษาด้วยข้อสัญญา กรุงสยามเห็นแก่ทางพระราชไมตรี ก็ได้ตั้งพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่ง เสนาบดี ๔ นาย เป็น ๕ ด้วยกัน มีนามในหนังสือสัญญาแล้วนั้น ให้ไปประชุมปรึกษากับทูตของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจัดแจงตั้งข้อสัญญาต่างๆ ตามที่เห็นพร้อมกันสองฝ่าย โดยประสงค์ว่า ควรนั้นทุกประการ
การทำหนังสือสัญญาก็เป็นอันเสร็จแล้ว ได้ลงหมายลายมือและตราตามตำแหน่งของผู้รับสั่งทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงมองติคนี ราชทูตได้มอบสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการหลายสิ่งแก่กรุงสยาม กรุงสยามได้รับแล้ว ได้ให้จำนวนรับเขียนให้มองติคนีราชทูตไปโดยชื่อของทุกสิ่งแล้ว (มีดังนี้ คือ) เครื่องราชบรรณาการ ๙ สิ่ง
(๑) คือ ปืนทองใหญ่กระสุน ๖ นิ้วรางเกวียน แลเกวียนเครื่องปืนพร้อมทุกอย่างลากด้วยม้าแปดม้า
(๒) คือ ปืนหัน ๕ กระสุนใส่ในหีบ
(๓) คือ หีบเครื่องแต่งตัวอย่างดี
(๔) คือ ครอบแก้วมีนกร้องอยู่ข้างใน
(๕) คือ ระย้าเทียนแขวนเป็นเครื่องกาไหล่ประดับแก้ว กับหีบใส่เทียนสำหรับใช้ในระย้า
(๖) คือ รวมแผนต่างๆ ถ่ายอย่างที่แลแผนต่างๆ
(๗) คือ รวมแผ่นภาพเรื่องรูปแลตัวอย่างเครื่องแต่งทหารฝรั่งเศส
(๘) กล้องแฝดดูรูปต่างๆ สองคู่ กับฉากสำหรับดูกล้องนั้น
(๙) คือ เครื่องเล่นพนันวิ่งม้าด้วยทอดลูกบาศก์
ของ ๙ สิ่งนี้แก่กรุงสยาม บอกความว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมอบหมายให้เฉพาะมา ขอขอบพระคุณอุปการะยินดีตอบมาด้วยความสุจริต ขอให้ทางไมตรีสองพระมหานครติดพันอยู่เย็นเป็นสุขไปนาน ชั่วฟ้าแลดินเทอญฯ
แลบ้านเมืองของสยามที่ได้เป็นเมืองมีไมตรีกับฝรั่งเศส แลประเทศใหญ่อื่นๆ ดังนี้ จะเป็นสุขไปก็ด้วยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทรงพระเมตตากรุณาถึงในกาลเนืองๆ ครั้งนี้กรุงสยามได้ส่งเครื่องบรรณาการบางสิ่ง มีบัญชีมากับพระราชสาส์นนี้ ถึงไม่สู้ดีก็เป็นฝีมือช่างเมืองไทยแลเป็นของเมืองไทย ขอพระองค์จงโปรดรับไว้เป็นเครื่องระลึกถึงทางพระราชไมตรี เทอญ
พระราชสาส์นมา ณ วันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศกเป็นปีที่ ๖ ของรัชกาลปัจจุบันนี้ เป็นวันที่ ๑๙ แห่งเดือนเสปเตมเปร์ (เดือนกันยายน – September : ผู้เขียน) ศักราชคริสต ๑๘๕๖ เป็นปีที่ ๖ ของรัชกาลปัจจุบัน กรุงฝรั่งเศส…”
การเตรียมการรับราชทูตโดยรัฐบาลจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สองของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓
สำหรับการจัดการรับราชทูตสยามในครั้งนั้น ทางรัฐบาลของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ก็ได้เตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ด้วยความตั้งใจที่ให้สมเกียรติเหมือนครั้งการรับราชทูตสยามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมเตรียมการให้ฌอง-เลออง เฌโรม (Jean-Leon Gerome) จิตรกรประจำราชสำนักฝรั่งเศสวาดภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นไว้ แสดงนัยยะสำคัญของเหตุการณ์นี้ในสายตาพระจักรพรรินโปเลียนที่ ๓ อีกด้วย ดังข้อเขียนของ ซาวิเยร์ ซัลมง (Xavier Salmon) ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการแผนกมรดกและสิ่งของจัดแสดง พระราชวังฟงแตนโบล ว่า
“…การพยายามจัดการรับราชทูตสยามที่พระราชวังฟงแตนโบลให้สมพระเกียรตินั้น ทำให้เจ้าพนักงานพระราชพิธีต้องพยายามศึกษาลักษณะการรับราชทูตสยามที่พระราชวังแวร์ซายส์เมื่อปี ค.ศ.๑๖๘๖ และได้ซักถามชาวอังกฤษเกี่ยวกับขั้นตอนการรับราชทูตที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่พระราชวังวินด์เซอร์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๕๗
การตัดสินใจที่ได้กระทำลงนั้น ก็เป็นไปเพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ไว้ แผนกงานศิลปะของพระราชวังฟงแตนโบลจึงสั่งให้ฌอง-เลออง เฌโรม (Jean-Leon Gerome) เขียนภาพบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ เพื่อใช้ประดับที่พระราชวังแวร์ซายส์
เฌโรมได้พยายามศึกษาเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการรับราชทูตครั้งนี้ บางทีอาจะเป็นไปได้ว่า เขาได้ใช้ภาพร่างของเหตุการณ์การรับราชทูตในปี ค.ศ.๑๖๘๖ เป็นพื้นฐาน และอาจได้แรงบันดาลใจจากภาพการเข้าเฝ้าของคณะทูตเปอร์เซียในปี ค.ศ.๑๗๑๕ ซึ่งมีองค์ประกอบของรูปคล้ายกันด้วย เฌโรมใช้เวลาราว ๒ ปี ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อเขียนภาพ ต้นปี ค.ศ.๑๘๖๓ เขาจึงเริ่มเขียนภาพที่ร้านซึ่งตั้งอยู่เลขขที่ ๖ ถนนบรุ๊กแซลล์ กรุงปารีส จิตรกรพยายามรักษาความสมจริงของเหตุการณ์
และเลือกที่จะเขียนภาพในขณะที่ท่านราชทูตคือพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี*กำลังทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์น ภาพเขียนนี้เสร็จลงในปี ค.ศ.๑๘๖๔ ในราคา ๒๐,๐๐๐ ฟรังก์ และปีต่อมาได้นำไปจัดแสดงที่ห้องรับรอง แม้ว่า การรับราชทูตนั้นจะเกิดขึ้นไม่นานนัก แต่ภาพวาดของเฌโรมเป็นที่ดึงดูดผู้คนและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก…”
และเมื่อ “ภาพเขียนประวัติศาสตร์” ชิ้นนี้สำเร็จลุล่วง และได้นำแสดงออกสู่สาธารณชนเพื่อแสดงถึงความเกรียงไกรของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง ก็เป็นที่สนใจในแวดวงสังคมของฝรั่งเศสในทันที โดยเฉพาะรายละเอียดของเครื่องมงคลราชบรรณาการในครั้งนั้น ดังปรากฏในบทความของเทโอฟีล โกติเยร์ (Theophile Gautier) ในหนังสือพิมพ์ เลอ โมนิเตอร์ ออฟฟิซิแอล (Le Moniteur official) ฉบับวันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๖๕ ว่า
“…ภาพการรับคณะราชทูตสยามโดยพระจักรพรรดิที่พระราชวังฟงแตนโบลที่เฌโรมเขียนนั้นเป็นที่ดึงดูดผู้ชมมาก ต่างต้องรอคอยที่จะถึงรอบเข้าชม อันที่จริงแล้ว ภาพนี้เป็นเหตุการณ์อันแปลกประหลาดอย่างหนึ่งที่เห็นราชทูตคุกเข่าบนพรมเบื้องพระพักตร์พระจักรพรรดินโปเลียน
เฌโรมนับเป็นจิตรกรที่มีความพร้อมในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ เพราะเขามีอารมณ์ความรู้สึกในสิ่งที่แปลกใหม่ หายาก สามารถแสดงออกถึงลักษณะพิเศษได้ดี อาจนับได้ว่าภาพเขียนนี้เป็นเสมือนบันทึกทางชาติพันธุ์วรรณาที่ละเอียดและใหม่ล่าสุด…
…คงไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเท่ากับเครื่องแต่งกายที่ประดับไปด้วยทองคำ ทั้งการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า ด้วยท่าทางการคลานศอกเข้าไปหน้าแท่นที่ประทับของพระจักรพรรดินโปเลียนและพระจักรพรรดินี ท่าทางที่ชาวตะวันตกไม่มีวันที่จะกระทำตามอย่างได้
นอกจากนี้ ที่ด้านข้างยังมีเครื่องมงคลราชบรรณาการงดงาม ทั้งพระกลดหลายคันที่แสดงที่แสดงพระเกียรติยศ ผ้าปักทอง เครื่องทองเงินที่มีค่าหาได้ยากในดินแดนบุรพทิศ เราอาจคาดไม่ถึงเลยว่าสิ่งของเหล่านี้มีค่ามากเพียงใด ช่างศิลปะผู้ใดเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้นมา
ที่ภาพวาดมีรูปเด็กคนหนึ่งโกนศีรษะแล้ว แต่ใส่เกี้ยวทองคำรัดจุกไว้ สายตาเป็นประกายราวเพชร เงยหน้าขึ้นแต่สายตามีความสุขที่ได้มาเห็น เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “ความรัก” ที่แฝงกายมาอย่างลับๆ
ด้านบนของภาพที่คณะราชทูตกำลังหมอบคลานกันอยู่นั้น จิตรกรวาดภาพผู้คนยืนนิ่งสงบ บ้างยิ้มเล็กน้อย คนเหล่านี้เป็นทั้งนายทหารและบุคคลในราชสำนัก พระบรมวงศานุวงศ์ ภาพแต่ละภาพนั้น สามารถจะระบุได้อย่างชัดเจนว่าคือผู้ใดบ้าง…”
เหตุการณ์พระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เสด็จออกรับราชทูตสยาม ในสายตา “ตรีทูต”
คณะราชทูตสยาม พ.ศ.๒๔๐๔ นั้น มี พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นราชทูต (เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (วร บุนนาค) เป็นอุปทูต และพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เป็นตรีทูต โดยมีบาทหลวง ลาร์นอดี (L’ Abbé Larnaudie) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสและมิชชันนารีคณะเยสุอิต ผู้เคยได้รับมอบหมายเป็นล่ามให้เมอซิเออร์ เดอมองติญี เข้ามาทำสัญญาทางพระราชไมตรี รับหน้าที่เป็นล่ามคณะราชทูตสยาม
พระณรงค์วิชิตผู้นี้ เป็นเป็นผู้อุตสาหะจดบันทึกเรียบเรียงการเดินทางของคณะราชทูตสยามในครั้งนั้นไว้เป็นจดหมายเหตุ พรรณาการเดินทาง การต้อนรับของทางการฝรั่งเศส และโดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อราชทูตสยามเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการแด่พระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ไว้ละเอียดถี่ถ้วน เป็นที่อ้างอิงบรรยากาศสัมพันธไมตรีของสองราชสำนักนั้นได้อย่างดี ดังความว่า
“…ทูตานุทูตลงจากรถไฟแล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นรถเทียมม้า ๔ ม้าทุกรถไปตามถนน ราษฎรยกธงตามหน้าต่างทุกตึกไปทาง ๓๐ เส้นถึงพระราชวัง มีปี่พาทย์ประโคมสำรับหนึ่ง ๓๖ คน มีทหารแต่งตัวถือปืนไรแฟนยืนข้างถนน ข้างละ ๒ แถว เปนทหาร ๒,๐๐๐ คน ทหารใส่เสื้อเกราะขี่ม้ายืนหลังทหารปืนข้างละ ๒ แถว เปนทหาร ๔๐๐ ม้า รวมทหาร ๒,๔๐๐ คน กำแพงวังด้านทางทูตเข้านั้นเปนรั้วเหล็กยอดปิดทอง มีประตูใหญ่ ๔ ประตู
รถทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังถึงบันไดเกย ทูตลงจากรถแล้ว ขุนนางพาทูตานุทูตขึ้นไปบนตำหนัก เข้าพระทวารลดเลี้ยวไปประมาณเส้นหนึ่ง มีทหารใส่เสื้อเกราะยืน ๒ แถว ถือดาบถือขวานประมาณ ๕๐๐ คน ครั้นถึงห้องพระตำหนักแห่งหนึ่ง ขุนนางฝ่ายกรมวังออกมารับให้ทูตานุทูตหยุดพัก เปิดหีบพระราชสาส์นออกแล้ว ราชทูตเชิญพระราชสาส์นในพระบวรราชวังรวมลงในพานพระราชสาส์นใหญ่
มองติคนีกับขุนนางกรมวังนำราชทูตเชิญพระบรมราชสาส์นแลพระบวรราชสาส์น กับทูตานุทูตเข้าไปถึงท้องพระโรงที่เสด็จออก แล้วคลานตามลำดับเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่ง ราชทูตก็วางพานพระราชสาส์นลง ห่างกับที่สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จออกประทับอยู่นั้นประมาณ ๒ ศอก ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมครั้งหนึ่ง แล้วหมอบอยู่
ราชทูตอ่านทูลเบิกถวายพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการเปนคำไทยก่อน แล้วบาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ล่ามอ่านแปลเปนคำฝรั่งเศสถวายจบแล้ว ๆ ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมอิกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอมีรับสั่งตอบว่า
ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ที่ได้รับทูตแลขุนนางเรือรบซึ่งเข้าไปกรุงเทพมหานครโดยความยินดี แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแต่งทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์น เครื่องมงคลราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรีอิกนั้น ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเปนอันมาก
แต่ก่อนกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยามอยู่ไกลกัน เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสตีได้เมืองไซ่ง่อนเขตแดนญวนเปนของฝรั่งเศส แผ่นดินก็ใกล้กันกับกรุงสยาม คอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายมีธุระการงารสิ่งใดจะได้ปรึกษาหารือกัน พระราชไมตรีก็จะได้สนิทกันมากทวีขึ้นไป ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ทรงพระชนมายุยืนยาวให้มาก พระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะได้ถาวรวัฒนาสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าแลดิน
ทูตถวายบังคมพร้อมกันอิกครั้งหนึ่ง แล้วราชทูตเชิญพานพระราชสาส์นเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอทรงรับต่อพระหัตถ์ แล้วส่งพระราชสาส์นให้มินิศเตอทูวแนลผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ(Édouard Thouvenel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศสในขณะนั้น – ผู้เขียน)ราชทูตคลานถอยออกมาถึงที่เฝ้า ทูตานุทูตถวายบังคมอิกครั้งหนึ่ง ขุนนางบอกว่าจะเสด็จขึ้น ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมคลานถอยหลังออกมา…”
การจัดเก็บดูแลรักษาเครื่องมงคลราชบรรณาการของกรุงสยาม
เมื่อได้เจริญสัมพันธไมตรีสองประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางราชสำนักกรุงฝรั่งเศสโดยพระจักรพรรดินีเออเฌนี ได้จัดการสร้าง “ห้องจีน” ขึ้นเป็นเป็นห้องพิเศษอีกหนึ่งห้อง เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงเครื่องมงคลราชบรรณาการของสยาม และเครื่องราชบรรณาการของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกไว้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในบทความ “เครื่องมงคลราชบรรณาการสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล – หนึ่งร้อยห้าสิบปีแห่งการดำรงอยู่” โดยแวงแซงต์ โดรเกต์ ภัณฑารักษ์ประจำพระราชวังฟงแตนโบล ว่า
“…นับตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๖๑ พระจักรพรรดินีเออเฌนีมีพระราชประสงค์ที่จะรวบรวมเครื่องราชบรรณาการจากชาติตะวันออกไว้ในห้องพิเศษห้องหนึ่งในพระราชวังฟงแตนโบล อันที่จริงในระหว่างปีนั้นพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีมิได้ทรงรับเฉพาะเครื่องมงคลราชบรรณาการจากคณะราชทูตสยามเท่านั้น แต่ยังทรงได้รับเครื่องราชบรรณาการจีนที่มาจากพระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิง (Yuanming) ที่กองทหารฝรั่งเศสเข้ายึดได้ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๘๖๐
ในปีรุ่งขึ้นมีโครงการจะสร้างส่วนต่อของห้องเพื่อใช้จัดวางเครื่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมๆกับการสร้างห้องสำราญพระอิริยาบทของพระจักรพรรดินีที่ชั้นล่างของพระตำหนักใหญ่ (Gros Pavillon) ตามแบบแผนผังของสถาปนิกอองช์-ฌาร์ค กาเบรียล (Ange-Jacques Gabriel) ในราวกลางศตวรรษที่ ๑๘
พระตำหนักองค์นี้งดงามยิ่งนัก เพราะตั้งอยู่บริเวณมุมของพระราชวังฟงแตนโบล ใกล้กับสระน้ำ นอกจากนี้การสร้างห้องที่ชั้นล่างก็ทำให้มองเห็นสวนที่ตกแต่งแบบอังกฤษ การก่อสร้างเริ่มขึ้นในช่วงต้นปี ค.ศ.๑๘๖๓ โดยอเล็กซิส ปัคการด์ (Alexis Paccard) สถาปนิกประจำพระราชวังเป็นผู้ดูแล
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จทำให้สามารถสร้างห้องโถงห้องหนึ่งโดยมีฉากกั้น ห้องโถงนี้ประกอบด้วยห้องต่างๆ อีก ๔ ห้องคือห้องมุข ห้องท้องพระโรง ห้องโถงขนาดใหญ่ที่เรียกว่าห้องทะเลสาบ และพิพิธภัณฑ์ห้องจีน
การก่อสร้างทั้งหมดกำหนดเวลาไว้เพียงไว้เพียงช่วงสั้นๆ เพราะว่าคนงานเริ่มก่อสร้างหลังเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๘๖๓ และจะต้องใช้งานตามหมายกำหนดการตามหมายกำหนดการในวันที่ ๒ มิถุนายน กองพระราชพิธีฝ่ายที่ประทับทำงานกันอย่างเร่งด่วน …
…แม้จะวิตกกังวลกันไปบ้าง แต่แล้วพิพิธภัณฑ์ห้องจีนก็เสร็จทันพร้อมใช้งาน พระจักรพรรดินีและคณะผู้ติดตามไม่กี่คน เริ่มนำเครื่องราชบรรณาการต่างๆ มาจัดแสดงบนชั้นวางและในตู้กระจก หนังสือพิมพ์ เลอ มง อิลุสเทร่ (Le Monde illustre) ได้นำเสนอข่าวว่ามีพิธีเปิดห้องใหม่อย่างไม่เป็นทางการในวันที่ ๑๔ มิถุนายน
ในห้องจัดแสดงใหม่นี้มีเครื่องมงคลราชบรรณาการของสยามจัดวางอยู่ข้างเครื่องราชบรรณาการจากจีน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด พระมหามงกุฎซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดประดิษฐานอยู่กลางห้องกระจกขนาดใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ห้องจีนอย่างสมเกียรติ
เครื่องราชูปโภคทองคำ พระแสงดาบองค์ต่างๆ หีบทองคำ พระแสงกรรไกรในพระราชพิธี รัดพระองค์และพระสังวาลกุดั่นประดับทับทิมจัดวางอยู่ในตู้กระจกขนาดใหญ่ของห้อง…ส่วนของพระราชยานนั้นถูกจัดแสดงให้ห้องโถงตรงทางเดินพร้อมด้วยฉัตร พระแสงหอก กลองมโหระทึก เครื่องอานม้าทองคำ…เครื่องมงคลราชบรรณาการเหล่านี้มีบัญชีรายการสิ่งของที่ขึ้นทะเบียนและประเมินค่าไว้…”
บทสรุป
เราจะเป็นได้ว่าทุกขั้นตอนของเหตุการณ์เจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนี้ ล้วนเป็นไปด้วยความตั้งใจให้เกิดความเจริญงอกงามเป็นเกียรติยศปรากฏสืบไป ด้วยกันของราชสำนักทั้งสองฝ่าย
ด้านกรุงสยามนั้น การถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการด้วยเครื่องราชูปโภคทองคำในครั้งนี้นอกจากเป็นการเชื่อมความสัมพันธไมตรีแล้ว ยังแฝงด้วยกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการแสดงให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตก เห็นถึงความเป็นอารยประเทศของสยามผ่านงานช่างฝีมืออันวิจิตรงดงาม ตลอดจนรสนิยมที่ละเอียดอ่อนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของสยามประเทศ ลักษณะทางศิลปกรรมไทยที่ปรากฏ ย่อมแสดงถึงงานช่างทองหลวงในสมัยนั้น
และการเติมคำว่า “มงคล” แทรกลงไปในคำว่าเครื่องราชบรรณาการนั้น มีความหมายเป็นนัยว่าพระเจ้ากรุงสยามมีสถานะเทียบเท่ากับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
ดังนั้นเครื่องมงคลราชบรรณาการจึงเป็นเหมือนกับของขวัญแก่มิตรประเทศ เป็นการแสดงเกียรติยศเปรียบเสมอกันระหว่างราชสำนักตะวันตกกับตะวันออก ไม่ใช่การโอนอ่อนยอมรับอำนาจเป็นเมืองขึ้นเหมือนการส่งเครื่องบรรณาการแต่อย่างใด
ด้านฝรั่งเศสเล่าก็จัดการต้อนรับราชทูตสยาม และจัดเก็บเครื่องมงคลราชบรรณาการเป็นอย่างดี โดยที่มีพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สองทั้งสองพระองค์นั้นทรงกำกับดูแลอย่างดี
แล้วเหตุให้เกิดความว่า “น่าเจ็บใจที่เราส่งเครื่องมงคลราชบรรณาการไปล้วนแต่ของดีๆ แล้วได้รับไมตรีตอบเป็นการเฉือนดินแดน” อย่างวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เหตุนั้นก็อธิบายได้ด้วยความน่าเสียดาย ที่รัชกาลพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ นั้นสิ้นลงไม่สวยงามเท่าไหร่ พร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง จากการที่พระองค์ต้องเข้าสู่สงครามฝรั่งเศส – ปรัสเซีย เพื่อต่อต้านการรวมแผ่นดินเยอรมนีและปรัสเซียเข้าด้วยกันโดยที่ไม่มีใครร่วมหัวจมท้ายด้วย กระทั่งทรงถูกจับเป็นเชลยในยุทธการเซอด็อง (Sedan) ท้ายที่สุดต้องเสด็จลี้ภัย พลัดพรากจากพระราชโอรสที่ต้อง(ถูกส่ง)ไปสิ้นพระชนม์ในสงครามต่างแดน พร้อมเผ้ามองการเกิดของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สามจนพระจักรพรรดิเองสวรรคตที่เมืองอังกฤษ
เมื่อจักรวรรดิล่มสลาย ทำให้เครื่องมงคลราชบรรณาการสยามเหล่านี้จึงถูกทิ้งไว้ จนบางคนถือว่าเป็น “สมบัติที่น่าค้นหา” เหมือนกับที่บางคนเห็นว่าเป็นสมบัติพิเศษ…ในปี ค.ศ.๑๘๘๐ ซาดี การ์โนต์ (Sadi Carnot) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ ได้อนุญาตให้ผู้ดูแลเปิดพระราชวังฟงแตนโบลให้คนเข้าชม
พิพิธภัณฑ์ห้องจีนของพระจักรพรรดินีเปิดให้เข้าชมในช่วงสาธารณรัฐที่สามจนถึงปี ค.ศ.๑๙๘๐ ซึ่งในช่วงนั้นภัณฑารักษ์ประจำพระราชวังตัดสินใจบูรณะห้องทั้ง ๔ ห้องขึ้นใหม่อีกครั้งและจัดแสดงสิ่งของเครื่องราชบรรณาการไว้ตามตำแหน่งที่พระจักรพรรดินีทรงเลือกไว้ด้วยพระนางเอง
การบูรณะครั้งนี้เสร็จสิ้นในปี ค.ศ.๑๙๙๑ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาผู้เข้าชมพระราชวังฟงแตงโบลจะได้เห็นเครื่องมงคลราชบรรณาการที่คณะราชทูตสยามเชิญไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ตามพระราชประสงค์ของพระจักรพรรดินีเออเฌนี แต่แล้วก็เหตุที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๕๕๘) “ห้องจีน” ถูกมิจฉาชีพลักลอบโจรกรรมของมีค่าไปกว่า ๑๕ หนึ่งในนั้นคือพระมหามงกุฎจำลอง พระแสงดาบญี่ปุ่น พระคนโท พาน และพระกรรบิด ๒ องค์
แท้จริงแล้วชะตากรรมของ “จักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง” และ “พระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และพระราชวงศ์” นั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ “สยาม” และ “เครื่องมงคลราชบรรณาการสยาม” คือต้องมีอันพลัดพรากแยกย้าย บ้างก็ตายจากหายไป
ดังนั้นข้อครหาสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ที่หลายท่านกล่าวออกไปโดยไม่รู้ที่ไปที่มาในเชิงว่าทรงเป็น “ผู้ทรยศสยาม” จึงเป็นอันต้องตกไปดังนี้